ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: พิษเห็ด (Mushroom poisoning)  (อ่าน 86 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 506
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: พิษเห็ด (Mushroom poisoning)
« เมื่อ: วันที่ 11 พฤศจิกายน 2024, 17:17:43 น. »
หมอออนไลน์: พิษเห็ด (Mushroom poisoning)

เห็ดพิษ มีหลากหลายชนิด และในเห็ดพิษชนิดเดียวกันก็อาจมีพิษอยู่หลายชนิดต่าง ๆ กันไป ภาวะพิษจากเห็ด (พิษเห็ด) จึงมีอาการได้หลายลักษณะ ส่วนใหญ่จะเกิดอาการแบบอาหารเป็นพิษทั่วไป คือ ปวดท้อง อาเจียน และท้องเดิน แต่เห็ดพิษบางชนิดมีพิษต่ออวัยวะสำคัญ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เช่น

    พิษต่อตับ ที่สำคัญได้แก่ เห็ดตระกูลอะมานิตา (Amanita) มีสารพิษร้ายแรงต่อตับชื่อ อะมาท็อกซิน (amatoxins) ทำให้ตับวาย ไตวาย ในบ้านเราได้แก่ เห็ดระโงกหิน* (มีชื่ออื่น เช่น เห็ดไข่ห่านตีนตัน เห็ดระโงก เห็ดระงาก เห็ดสะงาก เห็ดไข่ตายซาก เป็นต้น) มีลักษณะเป็นเห็ดขนาดใหญ่ รูปทรงสะดุดตา ขึ้นอยู่ทั่วไปตามเรือกสวนไร่นาและป่าเขา เป็นสาเหตุการป่วยและการตายที่สำคัญของชาวบ้าน โดยเฉพาะทางภาคเหนือและอีสานที่นิยมกินเห็ดป่า ซึ่งมักจะปรากฏเป็นข่าวทุกปี
    พิษต่อประสาทส่วนกลาง เช่น เห็ดตระกูลไจโรมิทรา (Gyromitra) มีพิษไจโรมิทริน (gyromitrin) หรือเรียกว่า โมโนเมทิลไฮดราซีน (monomethylhydrazine) นอกจากมีผลต่อสมองแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และภาวะเมตเฮโมโกลบินในเลือด (methemoglobinemia) ตับวาย ไตวายได้

นอกจากนี้ยังมีเห็ดตระกูลซิโลไซบ์ (Psilocybe) ซึ่งมีพิษซิโลไซบิน (psilocybin) และซิโลซิน (psilocin) ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายซีโรโทนิน มีฤทธิ์คล้ายสารเสพติดแอลเอสดี (LSD) ทำให้เคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอน และทำลายระบบประสาทอย่างรุนแรง ในบ้านเรา ได้แก่ เห็ดขี้ควาย** (ตำราแพทย์โบราณเรียก เห็ดโอสถรวมจิต) ซึ่งขึ้นอยู่ตามกองมูลวัวมูลควายแห้ง พบได้ทั่วไปในทุกภาค

    พิษต่อประสาทอัตโนมัติ เช่น เห็ดตระกูลอิโนไซบ์ (Inocybe) และคลิโทไซบ์ (Clitocybe) มีพิษมัสคารีน (muscarine) ออกฤทธิ์โคลิเนอร์จิก (กระตุ้นประสาทพาราซิมพาเทติก) อาการคล้ายพิษยาฆ่าแมลงประเภทออร์แกโนฟอสเฟต แต่รุนแรงน้อยกว่า พิษชนิดนี้ถูกทำลายด้วยความร้อน

นอกจากนี้ยังมีเห็ดพันธุ์ Amanita muscaria ซึ่งมีพิษมัสซิมอล (muscimol) และกรดไอโบเทนิก (ibotenic acid) ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิกคล้ายอะโทรพีน และมีฤทธิ์ทำให้มีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย

    พิษต่อไต เช่น เห็ดตระกูลคอร์ตินาเรียส (Cortinarius) มีพิษออเรลลานีน (orellanine) และออเรลลีน (orelline) ทำให้เกิดภาวะไตวายภายหลังกินเห็ด 1-3 สัปดาห์ พิษชนิดนี้ถูกทำลายด้วยความร้อน
    พิษร่วมกับแอลกอฮอล์คล้ายไดซัลฟิเเรม (disulfiram)*** เช่น เห็ดตระกูลโคพรินัส (Coprinus) มีพิษโคพรีน (coprine) ซึ่งมีความทนต่อความร้อน จะเกิดพิษเฉพาะเมื่อกินเห็ดร่วมกับแอลกอฮอล์

พิษเห็ดบางชนิดมีความทนต่อความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดระโงกหินที่มีพิษร้ายแรง ถึงแม้ปรุงให้สุกพิษก็ไม่ถูกทำลาย บางชนิดทำให้สุกอาจลดพิษลงหรือทำลายพิษได้ เช่น พิษมัสคารีน พิษไจโรมิทริน

อาการของพิษเห็ดขึ้นกับชนิดและปริมาณพิษที่ได้รับ

*ประกอบด้วยเห็ด 2 ชนิด ได้แก่ Amanita verna และ Amanita virosa

**มีชื่อวิทยาศาสตร์ - Psilocybe cubensis Sing. และชื่อสามัญ - Magic mushroom

***ไดซัลฟิแรมกินร่วมกับแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดอาการหน้าแดง ตัวแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก เหงื่อแตก ใช้เป็นยาบำบัดผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ โดยกระตุ้นให้เกิดความเข็ดขยาดจนเลิกดื่ม ถ้าใช้ขนาดมากเกินอาจเกิดพิษได้

อาการ

1. พิษชนิดอ่อน (ที่ไม่มีพิษต่ออวัยวะสำคัญ) ทำให้เกิดอาการแบบอาหารเป็นพิษทั่วไป คือ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน มักเกิดหลังกินเห็ด 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง (อาจเกิดระหว่าง 5 นาที ถึง 36 ชั่วโมงหลังกินเห็ดก็ได้) ถ้ารุนแรงทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ มักจะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง

2. พิษต่อตับ (เห็ดระโงกหิน) มักเกิดอาการหลังกินเห็ด 6-24 ชั่วโมง (เฉลี่ย 12 ชั่วโมง) ระยะแรกจะมีอาการปวดบิดเกร็งในท้อง อาเจียน และถ่ายท้องรุนแรง บางรายอาจมีมูกเลือดปน อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงถึงตายได้ แต่ถ้าได้รับสารน้ำและเกลือแร่ทดแทนได้พอเพียง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น จนดูเหมือนปกติ (ระยะนี้ถ้าตรวจเลือดอาจพบเอนไซม์ตับ คือ AST และ ALT สูงขึ้นเรื่อย ๆ) จนกระทั่ง 2-4 วันหลังกินเห็ดจะเกิดภาวะตับวาย เนื่องจากเซลล์ตับถูกทำลายรุนแรง และมักมีภาวะไตวายและหัวใจวายร่วมด้วย มีอัตราตายสูง (มากกว่าร้อยละ 20)

3. พิษต่อประสาทส่วนกลาง

เห็ดตระกูลไจโรมิทรา (พิษไจโรมิทริน) จะเกิดพิษมากเมื่อกินแบบไม่ปรุงสุก มักเกิดอาการหลังกินเห็ด 6-24 ชั่วโมง จะเริ่มด้วยอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน เป็นตะคริว ซึ่งมักจะไม่รุนแรง ต่อมาจะมีอาการเพ้อ ชัก หมดสติ อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะเมตเฮโมโกลบินในเลือด (methemoglobinemia) ตับวาย ไตวายได้ มีอัตราตายสูงพอประมาณ (น้อยกว่าร้อยละ 10)

พิษซิโลไซบินเเละซิโลซิน (เห็ดขี้ควาย) หลังกินเห็ด 30-60 นาที ผู้ป่วยจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอน (โดยเฉพาะเห็นภาพหลอน) เดินโซเซ รูม่านตาขยาย ใจเต้นเร็ว หายใจถี่ ความดันโลหิตสูง มีการเคลื่อนไหวมากผิดปกติ บางรายอาจมีอาการชัก ผู้ป่วยอาจรู้สึกตื่นตระหนก กลัวตาย โดยทั่วไปภาวะพิษชนิดนี้มักจะไม่รุนแรงถึงตาย

4. พิษต่อระบบประสาทอัตโนมัติ

พิษมัสคารีน จะเกิดพิษมากเมื่อกินแบบไม่ปรุงให้สุก มักเกิดอาการหลังกินเห็ด 30-60 นาที จะมีอาการอาเจียน ท้องเดิน ปัสสาวะราด น้ำตาไหล น้ำลายฟูมปาก เสมหะมาก หลอดลมหดเกร็ง (อาจมีเสียงหายใจดังวี้ด) ชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ รูม่านตาหดเล็ก มักจะไม่รุนแรงถึงตาย

พิษมัสซิมอลและกรดไอโบเทนิก หลังกินเห็ดประมาณ 30 นาที ผู้ป่วยมีอาการเมา เดินโซเซ เคลิ้มฝัน ร่าเริง กระปรี้กระเปร่า ประสาทหลอน เอะอะโวยวาย หลังจากนั้นจะหลับนาน เมื่อตื่นขึ้นมาอาการจะหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน แต่ถ้ากินเห็ดชนิดนี้มาก ๆ จะเกิดอาการคล้ายพิษอะโทรพีน ได้แก่ หน้าแดง ตัวแดง ตื่นเต้น เพ้อ กล้ามเนื้อสั่นและกระตุก ชัก รูม่านตาขยาย ชีพจรเต้นช้า มักจะไม่รุนแรงถึงตาย

5. พิษต่อไต หลังกินเห็ด 24-48 ชั่วโมง จะมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ซึ่งมักไม่รุนแรง เมื่อมีอาการทุเลาหรือหายแล้ว หลังจากกินเห็ด 36 ชั่วโมง ถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะไตวายตามมา โดยมีอาการปวดเอว กระหายน้ำมาก ปัสสาวะออกมากและบ่อย หรือปัสสาวะออกน้อย ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ง่วงนอน ภาวะไตวายมักเป็นเรื้อรังนานเป็นแรมเดือนแรมปี

6. พิษร่วมกับแอลกอฮอล์ เกิดอาการหลังกินเห็ดแกล้มเเอลกอฮอล์ 10-30 นาที หรือเมื่อดื่มแอลกอฮอล์หลังจากกินเห็ดแล้วถึง 1 สัปดาห์ก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ใจสั่น เหงื่อแตก ชาตามตัว รูม่านตาขยาย ความดันโลหิตสูง บางรายอาจมีความดันโลหิตต่ำ


ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะขาดน้ำรุนแรง ถึงขั้นช็อก และเสียชีวิต

ที่ร้ายแรง ได้แก่ ภาวะตับวาย (มีอาการซึม เพ้อ ชัก หมดสติ ดีซ่าน จ้ำเขียวตามตัว อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ) ไตวาย (มีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะออกมาก และบ่อยกว่าปกติ หรือปัสสาวะออกน้อย) ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ในระยะแรกอาจพบภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะในรายที่อาเจียน และถ่ายท้องมาก

ระยะต่อมาอาจพบอาการอื่น ๆ ขึ้นกับพิษที่ได้รับ เช่น ดีซ่าน (ตาเหลือง) อาการทางระบบประสาท (เคลิบเคลิ้ม ร่าเริง ซึม เพ้อ เดินโซเซ ชัก หมดสติ) ชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำหรือสูง รูม่านตาขยายหรือหดเล็ก เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์มักจะวินิจฉัยภาวะพิษเห็ดจากลักษณะอาการ ประวัติการกินเห็ด และตรวจตัวอย่างเห็ดที่เป็นสาเหตุ

การซักถามช่วงเวลาที่กินเห็ดกับช่วงเวลาที่เริ่มมีอาการอาจมีประโยชน์ในการแยกแยะสาเหตุ ถ้าเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดน้อยกว่า 6 ชั่วโมง มักเกิดจากพิษชนิดอ่อนและชนิดร้ายแรงไม่มาก ได้แก่ ซิโลไซบินเเละซิโลซิน (เห็ดขี้ควาย) พิษต่อประสาทอัตโนมัติ (มัสคารีน มัสซิมอล และกรดไอโบเทนิก) แต่ถ้าเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดมากกว่า 6 ชั่วโมง มักเกิดจากพิษร้ายเเรง ได้แก่ พิษต่อตับ (เห็ดระโงกหิน) พิษต่อไต พิษไจโรมิทริน

ถ้าเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดร่วมกับดื่มแอลกอฮอล์ 2-72 ชั่วโมง ก็เกิดจากพิษโคพรีน

การรักษา ให้การรักษาขั้นพื้นฐาน (อ่านเพิ่มเติมที่ "การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ" ด้านล่าง) และรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าติดตามอาการ ตรวจเลือด ประเมินการทำงานของตับและไต และให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาปวด ปรับดุลสารน้ำและเกลือแร่ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยากล่อมประสาท (ในรายที่กระสับกระส่าย เอะอะโวยวาย) ให้ยาแก้ชัก ให้กลูโคส (ในรายที่มีภาวะน้ำตาลต่ำ) เป็นต้น

เมื่อทราบว่าเป็นเห็ดพิษชนิดใด หรือผู้ป่วยมีอาการแสดงชัดเจนว่าเป็นจากพิษชนิดใด ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุ ดังนี้

    พิษต่อตับ (เห็ดระโงกหิน) ให้ผงถ่านกัมมันต์และยาต้านพิษ อาจทำการล้างไตโดยวิธีฟอกเลือด (hemodialysis) ทำการถ่ายพลาสมา (plasmapheresis), hemofiltration หรือ hemoperfusion กรณีที่มีภาวะตับวายรุนแรง อาจต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ
    พิษไจโรมิทริน ให้ผงถ่านกัมมันต์ทุก 4 ชั่วโมง และยาระบาย ให้ยาต้านพิษ
    พิษซิโลไซบินเเละซิโลซิน (เห็ดขี้ควาย) ควรแยกผู้ป่วยอยู่ในที่สงบ ในรายที่มีอาการตื่นตระหนก ประสาทหลอน กลัวตาย ให้ยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพม
    พิษมัสคารีน ให้อะโทรพีนเข้าหลอดเลือดดำ สามารถให้ซ้ำจนกระทั่งเสมหะแห้ง อาการมักจะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง
    พิษมัสซิมอลเเละกรดไอโบเทนิก ถ้ามีอาการชักให้ไดอะซีเเพมเข้าหลอดเลือดดำ
    พิษต่อไต ไม่มียาต้านพิษ ควรทำการตรวจเลือดดูการทำงานของไตเป็นระยะ ๆ ปรับดุลสารน้ำและเกลือแร่ ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการล้างไตโดยวิธีฟอกเลือด (hemodialysis) หรือทำ hemoperfusion และอาจต้องผ่าตัดปลูกถ่ายไต
    พิษร่วมกับเเอลกอฮอล์ ถ้ามีความดันโลหิตต่ำ ต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ถ้าไม่ได้ผลให้นอร์เอพิเนฟรีน ถ้าอาการรุนแรงมากอาจต้องทำการฟอกล้างของเสียทางเลือด

การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ

1. ถ้าผู้ป่วยกินสัตว์หรือพืชพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และยังไม่อาเจียน รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนด้วยการให้ไอพีเเคกน้ำเชื่อมหรือใช้นิ้วล้วงคอ

2. ให้ผู้ป่วยกินผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1 แก้ว โดยให้ผู้ป่วยดื่มเอง ถ้าอาเจียนหรือดื่มเองไม่ได้ ให้ป้อนผ่านท่อสวนกระเพาะ (stomach tube) ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ควรใส่ท่อช่วยหายใจก่อนเพื่อป้องกันการสำลัก

ควรให้เร็วที่สุดเมื่อพบผู้ป่วย (วิธีนี้จะได้ผลมากที่สุดเมื่อให้กินภายใน 30 นาทีหลังกินสัตว์หรือพืชพิษ) ไม่ควรให้ก่อนหรือหลังให้ยาที่ทำให้อาเจียน

ในรายที่รับพิษร้ายเเรง เช่น ปลาปักเป้า แมงดาถ้วย เห็ดพิษร้ายแรง หรือสงสัยรับพิษปริมาณมาก ควรให้ซ้ำทุก 4 ชั่วโมง

3. ทำการล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำ

วิธีนี้จะได้ผลดี เมื่อผู้ป่วยกินสารพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และไม่มีอาการอาเจียน ถ้าทำหลังกินสารพิษมากกว่า 4 ชั่วโมง อาจไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มกับผลข้างเคียง (ที่สำคัญคือ การสำลักเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ)

ควรกระทำโดยบุคลากรที่ชำนาญ และในที่ที่มีความพร้อม

ไม่จำเป็นต้องทำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก และห้ามทำในผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัว หมดสติ

อาจให้ผงถ่านกัมมันต์กินก่อนล้างกระเพาะ หรือผสมผงถ่านกัมมันต์ในน้ำล้างกระเพาะก็ได้

4. ให้ผู้ป่วยดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนต ขนาด 2-5% จำนวน 50 มล.

5. ให้กินยาระบาย ซอร์บิทอล (sorbitol) ขนาด 70% อาจกินเดี่ยว ๆ หรือผสมกับผงถ่านกัมมันต์แทนน้ำก็ได้ ถ้าไม่มีอาจให้ยาระบายอื่น ๆ เช่น ยาระบายแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) แทน ให้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

ห้ามทำ ในรายที่มีอาการถ่ายท้องมากอยู่แล้ว หรือมีภาวะขาดน้ำที่ยังไม่ได้รับการทดแทน

6. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

7. ถ้าชักฉีดไดอะซีเเพม 5-10 มก.เข้าหลอดเลือดดำ

8. ถ้าหยุดหายใจหรือหายใจไม่ได้ ให้ทำการช่วยเหลือด้วยการเป่าปาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

9. ถ้าหมดสติ ให้การรักษาแบบหมดสติ


การดูแลตนเอง

หากสงสัยว่าผู้ป่วยเกิดอาการพิษเห็ด ควรทำการปฐมพยาบาลแล้วรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที


การปฐมพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่กินสารพิษ สัตว์พิษ หรือพืชพิษ

1. รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อขับพิษออก

    ถ้ามียากระตุ้นอาเจียน ได้แก่ ไอพีแคกน้ำเชื่อม (syrup ipecac) ให้กินครั้งละ 15-30 มล. (เด็กโต 15 มล.) และดื่มน้ำตามไป 1 แก้ว ถ้ายังไม่อาเจียนใน 20 นาที กินซ้ำได้อีก 1 ครั้ง
    ถ้าไม่มียา ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1 แก้ว แล้วใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอกระตุ้นให้อาเจียน ถ้าไม่ได้ผลทำซ้ำอีกครั้ง

ควรเก็บเศษอาหารที่อาเจียน ไว้ส่งตรวจวิเคราะห์

วิธีนี้จะได้ผลดี ต้องรีบทำภายใน 1 ชั่วโมงหลังกินสารพิษ และไม่ต้องทำหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเองอยู่แล้ว

ห้ามทำ ในผู้ป่วยที่ชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ หรือกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์ หรือสารพิษไม่ทราบชนิด

2. ถ้ามีผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ให้กินขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1/2-1 แก้ว เพื่อลดการดูดซึมสารพิษเข้าร่างกาย (ไม่ต้องทำถ้าผู้ป่วยกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์)

ถ้าไม่มีผงถ่านกัมมันต์ ให้กินไข่ดิบ 5-10 ฟอง หรือดื่มนมหรือน้ำ 4-5 แก้ว

3. สำหรับผู้ป่วยที่กินพาราควอต ให้กินสารละลายดินเหนียว (Fuller’s earth) โดยผสมผงดินเหนียว 150 กรัม หรือ 2 1/2 กระป๋อง ในน้ำ 1 ลิตร ถ้าไม่มีให้ดื่มน้ำโคลนดินเหนียวจากท้องร่องในสวน (ที่ไม่มีตะปูหรือเศษแก้ว หรือสารพิษตกค้าง) ซึ่งจะลดพิษของยานี้ได้

4. สำหรับผู้ที่กินปลาปักเป้า แมงดาถ้วย ปลาทะเลพิษ หอยทะเลพิษ เห็ดพิษ ให้ดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนตขนาด 2-5% จำนวน 50 มล. (อาจเตรียมโดยผสมผงฟู 1-2.5 กรัม ในน้ำ 50 มล.) ซึ่งจะช่วยลดพิษของอาหารพิษได้

ห้ามทำ ข้อ 2-4 ถ้าผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ

5. ถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

6. ถ้าผู้ป่วยชักหรือหมดสติ ให้ทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยชัก (อ่านใน "โรคลมชัก" เพิ่มเติม) หรือหมดสติ (อ่านใน "อาการหมดสติ" เพิ่มเติม)

7. รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ควรนำสารพิษที่ผู้ป่วยกินหรืออาเจียนออกมาไปให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์ด้วย

การป้องกัน

1. ห้ามกินเห็ดระโงกหินที่มีพิษต่อตับโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะทำให้สุกหรือไม่ก็ตาม

2. หลีกเลี่ยงการกินเห็ดธรรมชาติหรือเห็ดป่าที่ไม่รู้จัก หรือไม่เคยมีผู้อื่นบริโภคมาก่อน หรือเห็ดที่เก็บมาจากบริเวณที่เคยมีเห็ดพิษขึ้นมาก่อน หากไม่แน่ใจ ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ก็ไม่ควรบริโภคเป็นอันขาด

3. ในการเก็บเห็ด ควรมีผู้ที่มีประสบการณ์อยู่ร่วมตรวจสอบด้วยเสมอ ไม่ควรเก็บเห็ดในบริเวณที่มีสารพิษตกค้าง

4. ในการบริโภคเห็ดธรรมชาติหรือเห็ดป่า ควรปฏิบัติดังนี้

    ไม่ควรกินแบบสด ๆ หรือเห็ดที่ไม่ได้ทำให้สุก (เห็ดบางชนิดเมื่อถูกความร้อน พิษจะถูกทำลายลง)
    ไม่ควรนำเห็ดหลายชนิดมาปรุงรวมกัน ควรแยกออกเสียก่อน หากเกิดเป็นพิษจะได้ง่ายต่อการวินิจฉัย
    ไม่ควรนำเห็ดไปปรุงจนหมด ควรเก็บดอกอ่อนและดอกแก่ไว้อย่างละ 1 ดอกเป็นอย่างน้อย เพื่อนำส่งวิเคราะห์หากเกิดการเป็นพิษขึ้นมา

5. การพิสูจน์พิษเห็ดโดยวิธีพื้นบ้าน (เช่น ใช้ช้อนเงิน งาช้าง ข้าวสาร หัวหอม หรือใช้ร่องรอยการทำลายจากหนอน แมลง และสัตว์) รวมทั้งการสังเกตลักษณะรูปทรง สีสันของเห็ด มีความไม่แม่นยำ จึงไม่ควรนำเห็ดที่ผ่านการพิสูจน์โดยวิธีเหล่านี้มาบริโภค

ข้อแนะนำ

1. ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการเป็นพิษจากเห็ด ควรให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น และส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลทุกราย เมื่อดูแลรักษาจนดูเป็นปกติแล้วก็อย่าพึ่งวางใจ เนื่องเพราะพิษต่อตับและไตอาจค่อย ๆ เกิดขึ้นช้า ๆ กินเวลาเป็นวัน ๆ ถึงสัปดาห์ ๆ ก็ได้ ควรตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไตเป็นระยะ ๆ (ยกเว้นในกรณีที่วินิจฉัยได้แน่ชัดว่าไม่ได้เกิดจากเห็ดที่มีพิษต่อตับหรือไตเท่านั้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กินเห็ดระโงกหิน (พบมากทางภาคเหนือและอีสาน) ควรติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะตรวจเลือดแล้วไม่พบมีความผิดปกติของตับหลังเกิดอาการ 7 วันไปแล้ว

2. ควรให้ความรู้แก่คนทั่วไปถึงอันตรายของเห็ดพิษ วิธีป้องกัน อาการแสดงของเห็ดพิษ และการปฐมพยาบาล รวมทั้งเก็บเศษอาหารที่อาเจียนและชิ้นส่วนเห็ดส่งไปตรวจพิสูจน์ที่โรงพยาบาล

3. โดยทั่วไปผู้ที่มีอาการเกิดขึ้นภายใน 6 ชั่วโมงหลังกินเห็ดมักเป็นพิษที่ไม่ร้ายแรง ถ้าเกิดขึ้นหลัง 6 ชั่วโมงมักเป็นพิษชนิดร้ายแรง แต่อาจมีข้อยกเว้นถ้ามีการกินเห็ดพิษหลายชนิดพร้อมกัน การเกิดอาการเร็วก็อาจไม่ได้ประกันว่าจะไม่เป็นพิษร้ายแรง (ซึ่งมักเกิดตามมาช่วงหลัง)

4. ผู้ป่วยที่เกิดจากพิษต่อตับหรือไต บางครั้งอาจมาพบแพทย์ในช่วงหลัง คือมีอาการของตับวาย (เช่น มีอาการดีซ่าน จ้ำเขียวตามตัว หรือซึม เพ้อ ชัก) หรือไตวาย (อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ง่วงนอน เบื่ออาหาร ปัสสาวะออกมากหรือน้อยกว่าปกติ) ดังนั้น ถ้าพบอาการดังกล่าว ควรคิดถึงภาวะพิษจากเห็ดไว้เสมอ