ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: งูกัด (Snakebites)ในบ้านเรา พบผู้ป่วยที่ถูกงูกัดได้ค่อนข้างบ่อย และในปีหนึ่ง ๆ มีผู้ที่เสียชีวิตจากการถูกงูกัดอยู่พอประมาณ
ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 10-39 ปี ถูกงูกัดมากกว่าช่วงอายุอื่น และผู้ชายจะถูกงูกัดมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า ยกเว้นงูเขียวหางไหม้ ที่ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสถูกกัดเท่า ๆ กัน
ช่วงเวลาที่พบผู้ป่วยที่ถูกงูกัดชุกชุม มักเป็นฤดูฝน (ตั้งแต่พฤษภาคมจนถึงพฤศจิกายน)
สำหรับผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัด พบว่าเกิดจากถูกงูกะปะกัดมากเป็นอันดับหนึ่ง (พบมากทางภาคใต้) รองลงมา ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ (พบมากทางภาคกลาง) และงูเห่า (พบมากทางภาคกลาง) ตามลำดับ
ความเเตกต่างระหว่างงูพิษ กับงูไม่มีพิษ
งูพิษ มีเขี้ยว (fang) 1 คู่ อยู่ตรงขากรรไกรบน เขี้ยวมีลักษณะเป็นรูกลวงคล้ายเข็มฉีดยา มีท่อติดต่อกับต่อมน้ำพิษ เมื่องูพิษกัดคนหรือสัตว์ ต่อมน้ำพิษจะปล่อยพิษไหลมาตามท่อ และออกทางปลายเขี้ยว คนที่ถูกงูพิษกัดจะพบรอยเขี้ยวเป็นจุด 2 จุด ตรงบริเวณที่ถูกกัด
งูไม่มีพิษ จะไม่มีเขี้ยว มีแต่ฟัน เมื่อกัดคนจะเป็นแต่รอยถลอกหรือรอยถากเท่านั้น จะไม่พบรอยเขี้ยว
งูไม่มีพิษ เช่น งูก้นขบ งูแสงอาทิตย์ งูปี่แก้ว งูเขียวปากจิ้งจก งูลายสาบ งูลายสอ งูงอด งูเหลือม และงูหลาม (2 ชนิดหลังตัวใหญ่ สามารถรัดลำตัวทำให้ตายได้)
งูพิษ 7 ชนิด สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามชนิดของพิษ ได้แก่
1. งูที่มีพิษต่อประสาท (neurotoxin) ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต
2. งูที่มีพิษต่อเลือด (hemotoxin) ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ ทำให้เลือดออกตามส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เพราะพิษของมันทำให้เลือดไม่แข็งตัว
3. งูที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อ (myotoxin) ได้แก่ งูทะเล ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบและกล้ามเนื้อตาย
ส่วนงูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา จะมีพิษต่อประสาทและเลือด แต่จะทำให้เกิดอาการคล้ายงูเห่า
สาเหตุ
เกิดจากถูกงูพิษฉกกัดด้วยเหตุบังเอิญ ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่บริเวณที่รก กองไม้ พงหญ้า ดงไม้ ซอกหิน ในบริเวณบ้าน ทุ่งหญ้า ท้องนา ไร่สวน ป่าเขาที่มีงูซุกซ่อนอยู่
อาการ
อาการงูพิษกัด แบ่งเป็นอาการเฉพาะที่ กับอาการทั่วไป
1. อาการเฉพาะที่
แผลที่ถูกงูพิษกัด จะมีลักษณะแตกต่างไปจากงูไม่มีพิษกัด คือ จะพบรอยเขี้ยว 2 รอย เห็นเป็นจุดหรือขีดเล็ก ๆ และมีอาการปวดกับบวมในบริเวณที่ถูกกัด บางครั้งมีเลือดออกซิบ ๆ ต่อมากลายเป็นสีเขียวคล้ำ มีตุ่มพอง ทิ้งไว้จะแตกออก และกลายเป็นแผลเน่า อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft)
ส่วนงูไม่มีพิษกัดจะไม่พบรอยเขี้ยว อาจเห็นเพียงรอยถากหรือรอยถลอก
สำหรับงูที่มีพิษต่อเลือดกัด อาการบวมจะเกิดขึ้นรวดเร็วภายใน 15-20 นาที และมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกจากรอยเขี้ยวไม่หยุด อาการบวมจะลุกลามมากขึ้น
ส่วนงูเห่ากัด จะมีอาการปวดพอทน อาการปวดค่อยเพิ่มมากขึ้นและแผ่ซ่านไป และจะมีอาการบวมบริเวณที่ถูกกัดเล็กน้อยภายหลัง 1 ชั่วโมง
ส่วนงูทะเลและงูสามเหลี่ยมกัด มักไม่ค่อยมีอาการปวดบวม
2. อาการทั่วไป
พบได้ประมาณร้อยละ 25-50 ของผู้ที่ถูกงูพิษกัด
มักจะเกิดขึ้นภายใน 1/2-3 ชั่วโมงหลังถูกกัด ในรายที่มีอาการเกิดขึ้นเร็ว ก็แสดงว่าได้รับพิษมาก และอาการจะรุนแรงมากด้วย แต่ถ้าไม่มีอาการเกิดขึ้นหลัง 3 ชั่วโมงไปแล้ว ก็แสดงว่าได้รับพิษน้อยและไม่ค่อยรุนแรง
งูที่มีพิษต่อประสาท เช่น งูเห่ากัด เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการซึม ง่วงนอน หนังตาตก (ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น) ต่อมาแขนขาจะอ่อนแรง ตาหรี่ลง กระวนกระวาย ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ พูดอ้อแอ้ คอตั้งตรงไม่ได้ น้ำลายฟูม หายใจลำบาก เพราะกล้ามเนื้อช่วยการหายใจเป็นอัมพาต ขั้นสุดท้ายจะหยุดหายใจ หมดสติและหัวใจหยุดเต้น ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังถูกกัด หากไม่ได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที
งูจงอาง ทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการเหมือนงูเห่ากัดทุกอย่าง แต่รุนแรงกว่ากันมาก เนื่องจากมีปริมาณพิษมาก ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา ก็แสดงอาการคล้ายงูเห่า ต่อมาจะมีอาการเลือดออกตามที่ต่าง ๆ โดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบผู้ป่วยที่ถูกงูชนิดนี้กัด
งูที่มีพิษต่อเลือด ตัวที่มีพิษรุนแรงที่สุด ได้แก่ งูแมวเซา เริ่มแรกจะมีเลือดออกเป็นจ้ำ ๆ ตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน ไอมีเลือดปนเสมหะออกมา ต่อมาจะมีอาการอาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือดสด ๆ ผู้ป่วยมักจะไม่เสียชีวิตในเวลาอันสั้น ๆ เหมือนงูเห่ากัด แต่จะค่อย ๆ เสียเลือดจนเกิดภาวะช็อก ในรายที่ได้รับพิษรุนแรง และได้รับการรักษาช้าไป อาจเสียชีวิตภายใน 1-3 วัน ในบางรายถึงแม้อาการทางเลือดจะหายไปแล้ว ก็อาจเสียชีวิตเนื่องจากเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน (ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย) เนื่องจากพิษงูทำให้ไตเสีย ซึ่งมักจะเกิดหลังถูกกัด 3-4 สัปดาห์
งูกะปะ จะทำให้เกิดอาการคล้ายงูแมวเซากัด แต่รุนแรงน้อยกว่า อาจเสียชีวิตจากการเสียเลือดแต่ไม่เกิดภาวะไตวาย มักเกิดอาการเฉพาะที่ค่อนข้างรุนแรง คือ บริเวณที่ถูกกัดจะกลายเป็นแผลเนื้อตาย (necrosis) จนบางครั้งจะต้องตัดนิ้วหรือแขนขา
งูเขียวหางไหม้ จะทำให้เกิดอาการคล้ายงูแมวเซากัด แต่มักมีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะพบว่าบริเวณที่ถูกกัดปวดบวมอย่างมาก อาการปวดจะหายภายใน 5-6 ชั่วโมง แผลจะบวมอยู่ 3-4 วัน ในรายที่ไม่รุนแรงจะหายภายใน 5-7 วัน แต่ในรายที่รุนแรงอาการบวมจะลุกลามมาก และผิวหนังพองขึ้นมีเลือดขังอยู่ ถ้าส่วนที่พองนี้แตก จะมีน้ำเหลืองปนเลือดออกไม่หยุดจนช็อก
แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว แต่การแข็งตัวของเลือดผิดปกติอยู่นาน 2-4 เดือน ดังนั้นถ้าผู้ป่วยต้องรับการผ่าตัดหรือคลอดบุตร ควรระวังการตกเลือด
งูที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล ผู้ป่วยมักถูกกัดในน้ำแถบปากอ่าวหรือขณะเก็บอวน รอยเขี้ยวห่างกันเล็กน้อย และไม่มีอาการปวดบวมแต่อย่างใด 1-2 ชั่วโมงต่อมาจะรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามแขนขา คอและลำตัว ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งปวด 8 ชั่วโมงต่อมาจะมีอาการปวดมากขึ้น แขนขาเป็นอัมพาต อ้าปากไม่ได้ หนังตาตก และปัสสาวะออกเป็นสีดำ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายในเวลา 14-16 ชั่วโมงหลังถูกกัด ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะไตวายเนื่องจากพิษของงูทำให้ไตเสีย
สำหรับผู้ป่วยถูกงูทะเลกัด ขณะนี้ในบ้านเรายังไม่มีการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูทะเลขึ้นใช้ จึงได้แต่ให้การรักษาตามอาการ ถ้ารอดไปได้ประมาณ 6 เดือน อาการอัมพาตและอาการอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ หายไป
ภาวะแทรกซ้อน
กล้ามเนื้อช่วยหายใจเป็นอัมพาต หยุดหายใจ เลือดออก ไตวาย หรือแผลเนื้อตาย ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของพิษงู
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และ การตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยอาศัยข้อมูล ได้แก่
สถานที่ที่ถูกกัดและอาชีพของผู้ป่วย ถ้าเป็นชาวนาในภาคกลางถูกกัดในท้องนา มักมีสาเหตุจากงูเห่าหรืองูแมวเซากัดมากกว่างูพิษชนิดอื่น ชาวประมงถูกกัดในทะเล มักมีสาเหตุจากงูทะเล ถ้าถูกกัดในบริเวณบ้านก็มักจะมีสาเหตุจากงูเขียวหางไหม้
ลักษณะของงูพิษ ถ้านำตัวงูมาด้วย หรือผู้ป่วยสามารถบอกถึงลักษณะของงูได้แน่ชัด ก็จะช่วยวินิจฉัยชนิดของงูเเละพิษที่ผู้ป่วยได้รับได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่ทราบชนิดของงู ก็ต้องตรวจดูงูที่นำมานั้นว่ามีเขี้ยวพิษหรือไม่
รอยเขี้ยว ผู้ที่ถูกงูพิษกัดจะต้องตรวจพบรอยเขี้ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีใครบอกได้ว่างูที่กัดนั้นเป็นงูอะไร (หรือรูปร่างอย่างไร) และไม่ได้นำตัวงูมาด้วย การตรวจพบรอยเขี้ยวจะเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกว่าเป็นงูพิษกัด
อาการเเสดง ทั้งอาการเฉพาะที่และอาการทั่วไป จะช่วยบอกถึงชนิดของงูพิษ เช่น ถ้ามีหนังตาตกหรือหยุดหายใจ ก็น่าจะสงสัยงูเห่ากัด ถ้าปวดบวมแผลมากและมีอาการเลือดออก ก็น่าจะสงสัยงูในกลุ่มพิษต่อเลือด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งงูแมวเซา) ถ้าปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก และปัสสาวะเป็นสีดำ ก็ช่วยบ่งบอกว่าถูกงูทะเลกัด ถ้ามีอาการปวดบวมตรงบริเวณที่ถูกกัดอย่างมาก โดยไม่มีอาการทางระบบประสาทหรือมีเลือดออก น่าจะเกิดจากพิษงูเขียวหางไหม้ เป็นต้น
การทดสอบระยะเวลาการจับตัวเป็นลิ่มเลือด (coagulation time) เป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำตามสถานพยาบาลทั่วไป โดยเจาะเลือดผู้ป่วย 3-5 มล. ใส่ในหลอดแก้ว (ที่ล้างสะอาดและแห้งสนิท) ตั้งทิ้งไว้ในห้องตรวจ (ในอุณหภูมิห้อง) เป็นเวลา 20 นาที โดยไม่เขย่าหลอดแก้ว ถ้าเลือดในหลอดแก้วไม่กลายเป็นลิ่ม ก็บ่งชี้ว่าน่าจะเกิดจากกลุ่มงูพิษต่อเลือดมากกว่างูเห่า
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ทำความสะอาดบาดแผล แล้วตรวจดูรอยเขี้ยวและลักษณะแผลที่ถูกงูกัด ว่าเข้าลักษณะของแผลงูพิษหรืองูไม่มีพิษ หรือสัตว์อื่นกัด
2. ถ้าพบลักษณะอาการบ่งบอกหรือสงสัยว่าเป็นงูพิษกัด แพทย์จะเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น น้ำเกลือ เซรุ่มแก้พิษงู เครื่องช่วยหายใจ อะดรีนาลิน สเตียรอยด์ และยาแก้แพ้ไว้ให้พร้อม และมีแนวทางการรักษา ดังนี้
2.1 รับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ด้วยการบันทึกสัญญาณชีพ (ความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ) ทุกชั่วโมง และดูว่ามีอาการทางประสาท เช่น หนังตาตก (สำหรับกลุ่มพิษต่อประสาท) เลือดออกหรือการทดสอบระยะเวลาการจับตัวเป็นลิ่มเลือด นานเกิน 20 นาที (สำหรับกลุ่มพิษต่อเลือด) หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปัสสาวะดำ (สำหรับงูทะเล) หรือไม่ ควรสังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หากพ้น 12 ชั่วโมงแล้วยังไม่มีอาการพิษต่อระบบทั่วไปเกิดขึ้น ก็สามารถให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้ภายหลังจากการรักษาบาดแผล
2.2 ถ้าผู้ป่วยมีอาการทั่วไปเกิดขึ้น ทำการรักษา ดังนี้
(1) ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำทันที เพื่อใช้เป็นทางฉีดเซรุ่มแก้พิษงูได้สะดวก
(2) ให้เซรุ่มแก้พิษงู (antivenom) เฉพาะสำหรับงูชนิดนั้น ๆ
ในกรณีที่ไม่ทราบว่าถูกงูพิษชนิดใดกัด ก็ต้องอาศัยอาการของผู้ป่วยเป็นหลักในการตัดสินใจ ถ้าผู้ป่วยมีอาการทางประสาท ก็ให้เซรุ่มแก้พิษงูเห่า ถ้ามีอาการเลือดออก ก็ให้เซรุ่มแก้พิษงูแมวเซา เป็นต้น
เซรุ่มแก้พิษงู ควรให้ต่อเมื่อมีอาการพิษต่อระบบทั่วไปเกิดขึ้นแล้ว ถ้ามีเพียงอาการเฉพาะที่ก็ไม่ต้องให้ ยกเว้นในกรณีที่มีอาการเฉพาะที่รุนแรง เช่น บวมเร็ว และบวมมากกว่าครึ่งหนึ่งของแขนหรือขาที่ถูกกัด
การให้เซรุ่มแก้พิษงู สามารถให้แก่ผู้ป่วยทุกรายที่มีข้อบ่งชี้ว่าได้รับพิษรุนแรง ไม่ว่าจะถูกกัดมานานเท่าใดก็ตาม
ในกรณีถูกงูที่มีพิษต่อประสาทกัด แล้วเริ่มเกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อ หรือในกรณีที่ไม่มีเซรุ่มแก้พิษงูกลุ่มนี้ อาจให้ยากลุ่มแอนติโคลินแอสเตอเรส (anti-cholinesterase) ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ซึ่งใช้ได้ผลดีในการรักษาพิษงูเห่า และงูทับสมิงคลา
(3) ให้การรักษาแบบประคับประคอง เช่น
ใช้เครื่องช่วยหายใจ ในรายที่หยุดหายใจ (เช่น ถูกงูเห่า หรืองูทะเลกัด)
ให้เลือด ถ้ามีเลือดออกรุนแรง (เช่น ถูกงูแมวเซากัด)
ในรายที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน (มักเกิดจากงูทะเล หรืองูแมวเซากัด) ต้องรักษาด้วยการฟอกล้างของเสียหรือล้างไต (dialysis) โดยมากภาวะนี้จะเป็นอยู่นาน 2-10 วัน
(4) ในรายที่มีเพียงอาการเฉพาะที่ ยังไม่มีอาการทั่วไปเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องให้เซรุ่มแก้พิษงู (ยกเว้นในรายที่มีแผลบวมเร็ว และบวมมากกว่าครึ่งหนึ่งของแขนหรือขาที่ถูกกัด จะให้เซรุ่มแก้พิษงูแบบเดียวกับในรายที่มีอาการทั่วไป) และให้การรักษาตามอาการ เช่น
ให้ยาแก้ปวด-พาราเซตามอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจากงูที่มีพิษต่อเลือดกัด เพราะถ้าใช้แอสไพรินอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
จัดแขนขาส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ จะช่วยลดอาการปวดและอาการบวมให้น้อยลงได้ เช่น ถ้าถูกกัดที่เท้า ให้นอนราบและใช้หมอนรองเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ ถ้าถูกกัดที่มือ ให้ใช้ผ้าคล้องมือไว้กับคอ เป็นต้น
เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เมื่อพ้น 12 ชั่วโมงไปแล้วยังไม่มีอาการทั่วไปเกิดขึ้น ก็แสดงว่าได้รับพิษไม่รุนแรง สามารถให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้
2.4 การรักษาบาดแผล ให้การดูแลรักษาแบบบาดแผลทั่ว ๆ ไป คือ
ให้ยาป้องกันบาดทะยัก เนื่องจากเคยมีรายงานผู้ป่วยถูกงูกัดที่ดูแลแผลไม่ถูกต้องจนกลายเป็นบาดทะยักมาแล้ว
บาดแผลที่เกิดจากงูกัด บางครั้งอาจกลายเป็นแผลเนื้อตาย (necrosis) เนื่องจากพิษงู (พบมากในงูกะปะและงูเห่า) ถ้าแผลลุกลามเป็นวงกว้าง อาจต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft)
การดูแลตนเอง
หากสงสัยถูกงูพิษกัด ควรทำการปฐมพยาบาล แล้วรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว อย่าเสียเวลาลองรักษาเอง หรือรอสังเกตอาการ เนื่องจากหากมีอาการเกิดขึ้นแล้วค่อยไปพบแพทย์อาจได้รับการรักษาไม่ทันการ
เมื่อได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ ควรรับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีข้อสงสัยควรถามและขอคำแนะนำจากแพทย์ให้กระจ่าง
การปฐมพยาบาล
เมื่อถูกงูพิษหรือสงสัยว่าเป็นงูพิษกัด ผู้ป่วยควรตั้งสติ ลดความตื่นเต้นตกใจ ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด อย่ารีรอจนพิษงูซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก หรือรอให้มีอาการเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ควรให้การปฐมพยาบาล ดังนี้
ทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ (เช่น แอลกอฮอล์, โพวิโดนไอโอดีน) ถ้ารู้สึกปวดแผลให้กินพาราเซตามอล ห้ามให้แอสไพรินเพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
พยายามเคลื่อนไหวแขนหรือขาส่วนที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ควรจัดตำแหน่งของส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ (เช่น ห้อยเท้าหรือมือส่วนที่ถูกงูกัดลงต่ำ) ระหว่างเดินทางไปยังสถานพยาบาล อย่าให้ผู้ป่วยเดิน ควรให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนในรถหรือแคร่หาม ทั้งนี้เพื่อชะลอไม่ให้พิษงูแล่นเข้าหัวใจ
ควรดูให้รู้แน่ว่าเป็นงูอะไร แต่ถ้าไม่แน่ใจควรรีบถ่ายภาพงูไว้ หรือบอกให้คนอื่นที่อยู่ในที่เกิดเหตุช่วยตีงูให้ตายและนำไปยังสถานพยาบาลด้วย (อย่าตีให้เละจนจำลักษณะไม่ได้) แต่ถ้างูหลบหายไปก็ไม่ควรเสียเวลาในการตามหา
ถอดเครื่องประดับ (เช่น แหวน กำไล) ออกจากปลายแขนหรือขาที่ถูกงูกัด หากปล่อยไว้จนมีอาการบวมแล้วจะถอดได้ยาก หรือทำให้เกิดอันตรายได้
อย่าทำการขันชะเนาะหรือใช้เชือกหรือยางรัดเหนือบาดแผล เพื่อป้องกันพิษแล่นเข้าหัวใจตามความเชื่อเดิม เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว หากรัดแน่นและนานเกินไปอาจทำให้แขนหรือขาข้างที่รัดนั้นขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดเนื้อตายได้
อย่าพยายามบีบเลือด รีดหรือดูดพิษออกจากบาดแผล เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้วยังอาจทำให้แผลอักเสบได้
อย่าใช้ไฟ บุหรี่ ธูป หรือเหล็กร้อน จี้ที่แผลงูกัด และอย่าใช้มีดกรีดแผลเป็นอันขาดเพราะอาจทำให้เลือดออกมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกงูที่มีพิษต่อเลือดกัด เช่น งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้) หรืออาจตัดถูกเส้นเอ็นหรือเส้นประสาท รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
อย่าให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาดองเหล้า หรือกินยากระตุ้นประสาท รวมทั้งชา กาแฟ
ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการหยุดหายใจ (จากงูที่มีพิษต่อประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม) ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทางจนกว่าจะถึงสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด
การป้องกัน
การป้องกันอาจทำได้ดังนี้
1. ควรใส่รองเท้าบู๊ตหรือรองเท้าหุ้มข้อ เมื่อจะเข้าไปในป่า สวนยางพารา สวนผลไม้ หรือที่รก
2. เวลาเดินทางผ่านท้องนา หรือทุ่งหญ้าในเวลากลางคืน ควรใช้ไม้หวดนำไปก่อน เพื่อไล่ให้งูหนีไป
3. เวลานั่งตามโคนไม้หรือขอนไม้ ควรสังเกตให้ทั่วเสียก่อนว่าไม่มีงูอยู่
4. ไม่ควรกางกระโจมนอนใกล้ก้อนหินหรือกองไม้ที่น่าสงสัยว่ามีงูอาศัยอยู่
5. ไม่ควรล้วงมือเข้าไปตามซอกหิน โพรงไม้หรือใต้แผ่นไม้ เพราะอาจมีงูซ่อนอยู่
ข้อแนะนำ
1. เมื่อถูกงูกัด ควรดูว่าเป็นงูอะไร หรือรีบถ่ายภาพงูไว้ เพื่อนำไปให้แพทย์ดู และรีบทำการปฐมพยาบาลที่ได้ผลและปลอดภัยตามขั้นตอนที่แพทย์แนะนำในปัจจุบัน ไม่ควรทำตามความเชื่อหรือสิ่งที่เคยแนะนำไว้แต่เดิมที (เช่น การขันชะเนาะหรือใช้เชือกหรือยางรัดเหนือบาดแผล การใช้ปากดูดพิษจากแผลงูกัด ใช้ไฟ บุหรี่ ธูป หรือเหล็กร้อนจี้ที่แผลงูกัด การใช้มีดกรีดแผล) ซึ่งนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจมีโทษหรือเป็นอันตรายได้
2. ถ้าหากถูกงูพิษกัด ควรแนะนำให้ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการทั่วไป (เช่น หนังตาตก เลือดออก) เกิดขึ้นแล้ว การรักษาด้วยเซรุ่มแก้พิษงูและการรักษาแบบประคับประคองแก้ไขภาวะร้ายแรง (เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ การให้เลือด การล้างไต) จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยหายได้เร็วและปลอดภัย
1. งูเห่า (cobra/Naja) เป็นงูพิษที่มีพิษร้ายแรงและเป็นอันตรายมาก มีนิสัยดุ พบชุกชุมแทบทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ แถบชานเมือง (เช่น ตำบลหนองงูเห่า อำเภอลาดกระบัง) สมุทรปราการ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี เพชรบูรณ์ เป็นต้น
งูเห่ามีหลายชนิด พบแบ่งกว้าง ๆ ได้เป็น 3 ตระกูล คือ
งูเห่าไทย (Naja kaouthia)
งูเห่าพ่นพิษ (Naja siamensis เเละ Naja sumatrana)
งูเห่าอินเดีย (Naja tripudians)
งูเห่ามีลักษณะหัวมน คอสั้น ตัวกลมยาวเรียวประมาณ 1-1/2 เมตร มีสีต่าง ๆ กันแล้วแต่ชนิด โดยทั่วไปมีสีดำ เขียวอมเทา น้ำตาล มีลักษณะพิเศษ คือ มันสามารถยกส่วนหัวขึ้นตั้งฉากกับพื้นได้ประมาณ 1/3 ของลำตัว และตรงลำคอสามารถแผ่ให้แบนออกได้ เรียกว่า แผ่แม่เบี้ย ส่วนบนด้านหลังของแม่เบี้ยจะมีสีแต้มต่าง ๆ กัน แล้วแต่ชนิดของงู เรียกว่า ดอกจัน มันจะแสดงอาการแบบนี้เวลาโกรธหรือตกใจ เป็นอาการเตรียมพร้อมที่จะกัด เขี้ยวพิษของงูเห่าสั้น ดังนั้นเวลากัดจึงต้องยกหัว แผ่แม่เบี้ยและฉกไปข้างหน้า งูเห่าจะออกหากินไม่เป็นเวลาแน่นอน ส่วนมากตอนหัวค่ำถึงตอนดึก ชอบอาศัยอยู่ในทุ่งนา โพรงดิน ป่าละเมาะ ชายเขา มีพิษต่อประสาท
2. งูจงอาง (King cobra/Ophiohagus hannah) เป็นงูพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวประมาณ 3.50-4.00 เมตร ยาวสุดอาจถึง 6 เมตร เป็นงูที่ดุร้ายอันตรายมาก ชอบอยู่ในป่าสูงทั่วไป มีชุกชุมมากในป่าภาคใต้ และภาคกลาง เช่น ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง กาญจนบุรี ลพบุรี ระยอง นครราชสีมา เป็นต้น
ลักษณะมีลายสีเหลืองหรือเขียวอมเทา ใต้คางมีสีเหลืองหรือส้ม บางชนิดหัวดำ หางดำ ตัวลายเป็นปล้องสีดำ สามารถแผ่แม่เบี้ยเช่นงูเห่า แต่ไม่มีดอกจัน ออกหากินไม่เป็นเวลาแน่นอน โดยมากเป็นเวลากลางวันจนถึงพลบค่ำ ชอบนอนตามกอไผ่ กอหญ้า โพรงไม้ ซอกหิน มีพิษต่อประสาท
3. งูสามเหลี่ยม (banded krait/Bungarus fasciatus) ลักษณะตัวเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยมีด้านท้องเป็นฐาน ตัวยาวประมาณ 2 เมตร ตัวมีสีเหลืองเป็นปล้อง ๆ สลับกับสีดำ บางชนิดหัวแดง หางแดง ตัวสีดำ เป็นงูบกที่ชอบออกหากินตามริมน้ำ บางครั้งลงว่ายในน้ำ เป็นงูที่ไม่มีนิสัยดุร้าย ไม่ทำร้ายคน ผู้ที่ถูกกัดมักจะเดินไปเหยียบมันเข้า หรือเดินผ่านไปขณะที่มันกำลังไล่กัดเหยื่อ ชอบอยู่ในที่มืดและซึมเซาเวลากลางวัน แต่ว่องไวมากเวลากลางคืน ออกหากินเวลาพลบค่ำถึงกลางคืน พบได้ทั่วไปทุกภาค มีพิษต่อประสาทและเลือด
งูทับสมิงคลา (Malayan krait/Bungarus candidus) เป็นงูสามเหลี่ยมพันธุ์หนึ่ง แต่ลำตัวกลม ไม่เป็นสามเหลี่ยม ลายสีดำสลับขาว คาดไม่รอบท้อง หางเรียวแหลมลงไปเรื่อย ๆ มีนิสัยปราดเปรียว เคลื่อนไหวเร็ว ชอบกัดคนตอนกลางคืน พบบ่อยในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพิษต่อประสาทและเลือดแบบเดียวกับงูสามเหลี่ยม
4. งูแมวเซา (Russell’s viper/Vipera russelli siamensis) หัวมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ตัวอ้วน คอเล็ก หางกลมยาวเรียว ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนปนเทา มีลายเป็นวงกลมหรือรูปไข่สีน้ำตาลเข้ม มีนิสัยดุ แต่เชื่องช้า เวลาตกใจหรือระวังตัวจะขดตัวเข้ามา แล้วสูดหายใจเข้าออกแรง ๆ ทำให้มีเสียงเกิดขึ้น คล้ายเสียงแมวกรน (หรือแมวเซา) แต่ถ้าศัตรูเข้าใกล้จะฉกกัดได้ เขี้ยวยาวโง้ง และสามารถเคลื่อนไหวได้ เวลากัดจึงขยับเขี้ยวให้ฝังได้ถนัดและลึก ออกหากินเวลากลางคืน ชอบอาศัยอยู่ตามที่ดอน ในซอกหิน โพรงดิน พงหญ้า ชอบที่แห้ง ๆ มากกว่าที่แฉะ ๆ มีชุกชุมในภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี นครสวรรค์ เป็นต้น มีพิษต่อเลือด
5. งูกะปะ (Malayan pit viper/Calloselasma rhodostoma) หัวมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ปากแหลม คอคอด หางสั้น เขี้ยวพิษยาวโง้ง ไม่ปราดเปรียว เมื่อตกใจจะงอตัวหรือขดนิ่ง แต่ฉกกัดรวดเร็ว เมื่อตกใจมากจวนตัวจะดีดตัวไปแทนการเลื้อย ลำตัวมีสีเทาอมม่วง มีลายเป็นรูปสามเหลี่ยม มีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ออกหากินในเวลากลางคืน โดยเฉพาะเมื่อน้ำค้างจัดและหลังฝนตก ชอบอาศัยอยู่ตามโคนไม้ใหญ่ที่มีใบแห้งทับถม พบชุกชุมในแถบที่เป็นดินทราย มีชุกชุมในจังหวัดภาคใต้ทุกจังหวัด และจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ เช่น ชลบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี นครนายก เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคอีสาน มีพิษต่อเลือด
6. งูทะเล (sea snake/Hydropheinae เเละ Laticaudinae) ที่มีพิษ เช่น งูคออ่อน งูชายธง งูผ้าขี้ริ้ว งูฝักมะรุม มีอยู่ในอ่าวไทยทั่ว ๆ ไป พบได้ตามจังหวัดชายฝั่งทะเลทุกภาค มีลักษณะหัวและคอเล็กกว่าลำตัวมาก มีหางแบนสำหรับว่ายน้ำ มีท้องสีขาว และหลังเป็นลายดำ ๆ ส่วนมากไม่ดุ อ่อนเปลี้ยเมื่อขึ้นพ้นน้ำ แต่ว่องไวเมื่ออยู่ในทะเล ชอบอาศัยตามทะเลโคลนมากกว่าทะเลทรายน้ำใส มีพิษต่อกล้ามเนื้อ
7. งูเขียวหางไหม้ (green pit viper/Trimeresurus และ Ovophis) ในบรรดางูพิษอ่อนด้วยกัน งูเขียวหางไหม้นับว่ามีอันตรายมากที่สุด เพราะมีนิสัยดุ มีอำนาจพิษและปริมาณน้ำพิษมากที่สุดในพวกงูพิษอ่อน มีหัวป้อม เขี้ยวพิษยาวโง้ง ตัวอ้วนสั้น หางสั้น ตัวสีเขียวอมเหลืองหรือเขียวแก่ หางสีน้ำตาลไหม้หรือสีแดง ชอบหากินเวลากลางคืน ชอบอยู่ตามสวนหรือในที่มืด เช่น ใต้ถุนบ้าน ตามลังหรือหีบเก็บของ มีชุกชุมทั่ว ๆ ไป พบมากที่กรุงเทพฯ ชลบุรี นครปฐม สระบุรี ลพบุรี มีพิษต่อเลือด