ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia  (อ่าน 92 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 506
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)

ธาตุเหล็ก* เป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งของการสร้างเม็ดเลือดแดง ถ้าร่างกายขาดธาตุเหล็กก็จะสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง** เรียกว่า โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก

โรคนี้พบเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะโลหิตจางในบ้านเรา พบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก วัยรุ่น หญิงในวัยมีประจำเดือน หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และพบมากในชาวชนบทและคนยากจน

*ธาตุเหล็กนอกจากเป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงแล้ว ยังมีหน้าที่กระตุ้นการเจริญของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ถ้าขาดธาตุเหล็กนอกจากทำให้โลหิตจางแล้ว เซลล์ต่อมรับรสที่ลิ้นและเล็บจะสร้างได้น้อย ทำให้ลิ้นเลี่ยน เบื่ออาหาร และเล็บอ่อนตัว

**ไขกระดูกมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งต้องมีสารอาหาร ได้แก่ โปรตีนและธาตุเหล็กเป็นวัตถุดิบในการสร้างสารฮีโมโกลบิน (ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย) โดยมีกรดโฟลิก วิตามินบี 12 และฮอร์โมนอีริโทรพอยเอทิน (erythropoietin ซึ่งสร้างที่ไต) เป็นองค์ประกอบในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง หากมีความบกพร่องเพียงองค์ประกอบอันใดอันหนึ่ง เช่น ไขกระดูกไม่ทำงาน ไตวาย (สร้างอีริโทรพอยเอทินไม่ได้) ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้น้อย ขาดธาตุเหล็ก กรดโฟลิก วิตามินบี 12 หรือโปรตีน ก็จะทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าปกติ เกิดภาวะโลหิตจางได้ ซึ่งมีลักษณะและชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามสาเหตุ

สาเหตุ

1. เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เช่น กินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ (ตับ ไต) นม ไข่น้อยเกินไป (อาหารเหล่านี้มีธาตุเหล็กมาก ซึ่งลำไส้สามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าธาตุเหล็กที่อยู่ในพืชผัก) จึงทำให้ร่างกายขาดธาตุเหล็ก

ผู้ที่เบื่ออาหารจากการเจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคอื่น ๆ หรือผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อยหรือไม่ครบส่วน หรือผู้ที่กินอาหารพวกเนื้อ นม ไข่น้อย (ซึ่งธาตุเหล็กในเนื้อ นม ไข่ ร่างกายสามารถดูดซึมนำไปสร้างเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าธาตุเหล็กในพืชผัก) ร่างกายก็อาจได้รับธาตุเหล็กน้อยเกินไป

ผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติหรือแม็กโครไบโอติกส์ (macrobiotics) อย่างเคร่งครัดและไม่ถูกหลักโภชนาการ คือกินแต่พืชผักเป็นหลัก ก็อาจขาดธาตุเหล็กได้ เนื่องจากธาตุเหล็กในพืชผักถูกลำไส้ดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากินพร้อมข้าวซึ่งมีสารไฟเทต (phytate) ที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก

นอกจากนี้ เด็กในวัย 2 ขวบแรกและเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโต รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ (ซึ่งมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นกว่าคนปกติ เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์) ถ้าไม่ได้กินธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ก็มักจะเกิดภาวะโลหิตจางได้

2. การเสียธาตุเหล็กออกไปกับเลือด เช่น มีประจำเดือนออกมาก (พบได้บ่อยในหญิงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์) เลือดออกทางช่องคลอด (เนื่องจากแท้งบุตร คลอดบุตร หรือมะเร็งมดลูกหรือปากมดลูก) เลือดออกจากกระเพาะอาหาร (เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งมีอาการถ่ายอุจจาระดำแบบเรื้อรัง) เลือดออกจากลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก (เช่น เป็นริดสีดวงทวาร หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดแดงสดแบบเรื้อรัง) หรือเป็นโรคพยาธิปากขอ (ซึ่งดูดเลือดจากลำไส้) เป็นต้น ก็อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มึนงง หน้ามืด เวียนศีรษะ และมักมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย (ยิ่งเบื่ออาหาร ก็ยิ่งทำให้ขาดธาตุเหล็กและทำให้ภาวะโลหิตจางยิ่งรุนแรงขึ้น)

ผู้ป่วยอาจมีประวัติเบื่ออาหาร ไม่กินเนื้อสัตว์ นมและไข่ หรือมีการเสียเลือดเรื้อรัง (เช่น มีประจำเดือนออกมาก ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือเป็นเลือดแดงสด)


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง นอกจากทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ทำงานได้ไม่เต็มที่ ลดความสามารถในการเรียนรู้

อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ เฉื่อยชา ภูมิคุ้มกันต่ำ (เกิดโรคติดเชื้อง่าย) ถ้าเกิดการเจ็บป่วยหรือมีบาดแผล ก็มักจะฟื้นหายได้ช้า

ในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด และทารกน้ำหนักน้อย

ในเด็กเล็ก ทำให้มีการเติบโตและพัฒนาการช้า

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม ถ้าหากมีภาวะโลหิตจางรุนแรง อาจทำให้โรคหัวใจขาดเลือด มีอาการกำเริบ หรือทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ตรวจพบอาการซีดขาวของใบหน้า เยื่อบุเปลือกตา ริมฝีปาก ลิ้น ฝ่ามือ และเล็บ

ถ้าเป็นเรื้อรังอาจมีอาการลิ้นมันเลี่ยน มุมปากเปื่อย เล็บมีลักษณะอ่อนและแบน หรือเล็บเงยขึ้นมีแอ่งตรงกลางคล้ายช้อน เรียกว่า เล็บรูปช้อน หรือคอยโลนีเคีย (koilonychia)

ในรายที่มีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย ซึ่งมักไม่มีอาการ การตรวจร่างกายจะไม่พบภาวะซีดชัดเจน มักจะตรวจภาวะโลหิตจางพบจากการตรวจเลือด (เช่น ขณะแพทย์ทำการตรวจเช็กสุขภาพด้วยสาเหตุอื่น)

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด พบระดับฮีโมโกลบิน (hemoglobin) น้อยกว่า 12 กรัม/ดล. (ในผู้หญิง) น้อยกว่า 13 กรัม/ดล. (ในผู้ชาย) เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก (microcytosis) ติดสีจาง (hypochromia) มีหลากขนาด (anisocytosis) มีหลากรูป (poikilocytosis)

และตรวจพบระดับเฟอร์ริทิน (ferritin ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีธาตุเหล็กและสะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ) ในเลือดต่ำ สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกของภาวะขาดธาตุเหล็ก หรือก่อนมีอาการปรากฏชัดเจน


การรักษาโดยแพทย์

1. สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติเป็นโรคเลือด (ธาลัสซีเมีย) ไม่มีประวัติการเสียเลือดเรื้อรัง (เช่น ถ่ายอุจจาระดำ หรือเป็นเลือดสด) และการเจ็บป่วยอื่น ๆ แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาบำรุงโลหิต เช่น เฟอร์รัสซัลเฟต หรือเฟอร์รัสฟูมาเรต ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ พอเริ่มดีขึ้นผู้ป่วยจะกินข้าวได้ดีขึ้น (เบื่ออาหารน้อยลง) หน้าตามีเลือดฝาดดีขึ้น (ซีดน้อยลง) มีเรี่ยวแรงมากขึ้น และผลการตรวจเลือดดีขึ้น จะให้ยาต่ออีก 1-2 เดือน จนระดับฮีโมโกลบินขึ้นสู่ปกติหรือหายจากภาวะโลหิตจาง หลังจากนั้นควรกินยานี้วันละ 1-2 เม็ด ต่อไปอีก 3-6 เดือน เพื่อสะสมธาตุเหล็กในร่างกายให้เพียงพอ

ในบางรายแพทย์อาจให้กินวิตามินซี หรือแนะนำให้กินน้ำส้มคั้นหรือผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงร่วมด้วย เนื่องด้วยวิตามินซีช่วยเสริมให้ลำไส้ดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น

2. ถ้าให้ยาบำรุงโลหิต 2 สัปดาห์แล้ว ภาวะโลหิตจางไม่ทุเลาหรือกลับแย่ลง หรือได้ประวัติเพิ่มเติมว่ามีการเสียเลือดเรื้อรัง สงสัยว่าเป็นโรคพยาธิปากขอ หรือสงสัยมีสาเหตุที่ร้ายแรงอื่น ๆ แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ (เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ ตรวจมดลูก เอกซเรย์ ส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร เป็นต้น) และให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น โรคแผลเพ็ปติก ริดสีดวงทวาร โรคพยาธิปากขอ เนื้องอกมดลูก โรคดียูบี เป็นต้น

3. สำหรับผู้ที่เบื่ออาหารจากการเจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคอื่น ๆ ผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อยหรือไม่ครบส่วน หรือผู้ที่กินอาหารพวกเนื้อ นม ไข่น้อย หากตรวจพบว่ามีภาวะโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก แพทย์ก็จะให้ผู้ป่วยกินยาบำรุงโลหิตแบบเดียวกับข้อ 1 ร่วมกับการดูแลรักษาโรคเรื้อรัง (ถ้ามี)

ผลการรักษา ส่วนใหญ่ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากภาวะโลหิตจางได้ดี แต่ถ้าไม่ได้แก้ไขสาเหตุ หลังหยุดยาสักพักก็กลับมีอาการกำเริบได้ใหม่


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้าตาซีดกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ดูแลรักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    กินยาบำรุงโลหิตแล้วมีผลข้างเคียง เช่น ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น แพทย์จะเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดน้ำเชื่อมซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดเม็ด
    กินยาบำรุงโลหิต 2 สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา
    มีประวัติเสียเลือด เช่น ถ่ายอุจจาระดำ (ตั้งแต่ก่อนกินยาบำรุงโลหิต) หรือถ่ายเป็นเลือดสด ซึ่งไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบตั้งแต่แรก (ผู้ป่วยอาจไม่ได้สังเกตเห็นแต่แรก หรือคิดว่าไม่สำคัญ หรืออายที่จะบอกให้ญาติและหมอทราบ)
    หากแพทย์ให้ยาอื่น (นอกเหนือจากยาบำรุงโลหิต) กินแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

โรคโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็กสามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก (เช่น เนื้อสัตว์ ตับหมู ตับวัว เลือดหมู ไตหมู นม ไข่) และกินน้ำส้มคั้นหรือผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง (เช่น ส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี มะขามเปรี้ยว) ให้มาก ๆ ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่มีประจำเดือนออกมากทุกเดือน ทารก และวัยรุ่น ควรบำรุงอาหารเหล่านี้ให้มาก หรือกินยาบำรุงโลหิตตามคำแนะนำของแพทย์

สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีภาวะซีดขณะมีประจำเดือนออกมาก ควรให้กินยาบำรุงโลหิตวันละ 2-3 เม็ด ในช่วงที่มีประจำเดือน นานประมาณ 1 สัปดาห์

สำหรับผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ หากกินนมและไข่ได้ควรกินนมและไข่ให้มากพอ ส่วนผู้ที่ไม่กินนมและไข่ ควรกินพืชผักที่มีธาตุเหล็กสูง (เช่น ผักใบเขียว ถั่วเหลือง งา ลูกเกด เป็นต้น) และวิตามินซีให้มาก ๆ และควรตรวจเช็กเลือดดูว่ามีระดับฮีโมโกลบินปกติหรือไม่ ถ้าต่ำกว่าปกติ ควรปรับการบริโภคชนิดของอาหารให้เหมาะสม และควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้กินยาธาตุเหล็กเสริม


ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยที่มีอาการซีด (โลหิตจาง) นอกจากมีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็ก ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว ไขกระดูกฝ่อ ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น (ตรวจอาการ "ซีด")

2. ผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กระยะเริ่มแรก หรือมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย (มีค่าฮีโมโกลบินต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย) อาจไม่มีอาการผิดปกติ และตรวจไม่พบอาการซีดชัดเจนก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง เช่น ผู้ที่กินอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย (เช่น กินอาหารมังสวิรัติแบบเคร่งครัด ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ นม และไข่) วัยรุ่น วัยสาว หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ แม้จะรู้สึกสบายดี ก็ควรได้รับการตรวจเช็กระดับฮีโมโกลบินในเลือด เพื่อค้นหาภาวะโลหิตจางระยะเริ่มแรก

3. ผู้ที่มีโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก เมื่อกินยาบำรุงโลหิต (ที่มีธาตุเหล็ก) มักจะมีอาการดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าไม่ทุเลาหรือกลับแย่ลง จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม อาจมีภาวะขาดธาตุเหล็กจากการเสียเลือดจากสาเหตุต่าง ๆ หรือมีสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เกี่ยวกับการขาดธาตุเหล็ก เช่น ธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว ไตวายเรื้อรัง (พบในคนที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง การกินยาแก้ปวดหรือยาแก้ข้ออักเสบนาน ๆ) เป็นต้น

4. ยาบำรุงโลหิต ซึ่งมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ อาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ท้องผูก ควรกินยานี้หลังอาหารทันที ถ้ามีอาการข้างเคียงดังกล่าว แพทย์แนะนำให้กินยาธาตุเหล็กชนิดน้ำเชื่อม ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดเม็ด

ยานี้ทำให้มีการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ (เนื่องมาจากสีของธาตุเหล็ก) ซึ่งไม่ถือว่าเป็นภาวะผิดปกติหรือมีอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด

ที่สำคัญ ยานี้ห้ามใช้สำหรับผู้ที่มีโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย (ซึ่งมีอาการเรื้อรังมาตั้งแต่เล็ก) เพราะในร่างกายมีธาตุเหล็กเกิน (เนื่องจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงที่มีรูปร่างผิดปกติ ด้วยอัตราที่เร็วกว่าคนปกติ ทำให้มีธาตุเหล็กออกมามากจนร่างกายขับออกไม่ทัน) การกินยาบำรุงโลหิตทำให้ร่างกายสะสมธาตุเหล็กเป็นพิษต่อร่างกายมากขึ้นได้