หมอออนไลน์: ภาวะขาดไทรอยด์/ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism) ภาวะขาดไทรอยด์ (ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย) หมายถึง ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายทำงานเชื่องช้าเนื่องจากขาดฮอร์โมนกระตุ้น เกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในผู้หญิงวัยกลางคน
สาเหตุ
ที่พบบ่อย มีสาเหตุจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคคอพอกเป็นพิษ (จะโดยวิธีให้ยาต้านไทรอยด์ กินสารกัมมันตรังสี หรือผ่าตัดก็เป็นได้เหมือน ๆ กัน) และจากภาวะแทรกซ้อนของต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง (ต่อมไทรอยด์อักเสบแบบฮาชิโมโต)
บางรายอาจเกิดจากผลข้างเคียงของการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง (เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) ที่บริเวณคอ หรืออาจเกิดจากการใช้ยา เช่น ลิเทียม อะมิโอดาโรน (amiodarone) เป็นต้น
บางรายอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่น โรคชีแฮน เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกสมอง เป็นต้น
ในเด็กเล็ก อาจเกิดจากภาวะขาดไอโอดีนในมารดาระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือเกิดจากต่อมไทรอยด์เจริญไม่ได้เต็มที่ ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด
นอกจากนี้อาจพบในหญิงขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอด เนื่องจากมีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ หากไม่ได้รับการรักษา อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษ แท้งบุตร และทารกคลอดก่อนกำหนดได้
อาการ
ในผู้ใหญ่ อาการจะค่อย ๆ เกิดขึ้นช้า ๆ กินเวลาเป็นแรมเดือน หรือแรมปี
ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ลำไส้ก็มักจะเคลื่อนไหวช้า ทำให้มีอาการท้องผูกเป็นประจำ
เนื่องจากร่างกายทำงานเชื่องช้า มีการใช้พลังงานน้อย ผู้ป่วยจึงมักมีรูปร่างอ้วนขึ้น ทั้ง ๆ ที่กินไม่มาก และจะรู้สึกขี้หนาว (รู้สึกหนาวกว่าคนปกติ จึงชอบอากาศร้อนมากกว่าอากาศเย็น)
อาจมีอาการเสียงแหบ หูอื้อ หูตึง ปวดชาปลายมือ เนื่องจากเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ทั้งนี้เนื่องจากมีสารมิวโคโพลีแซ็กคาไรด์สะสมที่กล่องเสียง ประสาทหู และช่องที่เส้นประสาทมือผ่าน
บางรายอาจไม่มีความรู้สึกทางเพศ
ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนออกมากหรือประจำเดือนไม่มา
ถ้าเป็นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลงจนหมดสติเรียกว่า "Myxedema coma" ซึ่งมักมีสาเหตุกระตุ้น เช่น ถูกความเย็นมาก ๆ ได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ ใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนาร์โคติก (narcotic) เป็นต้น
ในทารกแรกเกิด จะมีอาการซึม ไม่ร้องกวน หลับมาก ต้องคอยปลุกขึ้นให้นม มักมีอาการเสียงแหบ ท้องผูกบ่อย และอาจมีอาการดีซ่านอยู่นานกว่าปกติ
เมื่ออายุมากขึ้น เด็กจะมีการเจริญเติบโตช้า ฟันขึ้นช้า ผิวหนังหยาบแห้ง ขี้หนาว กินไม่เก่ง เฉื่อยชา (ทำให้ดูคล้ายเลี้ยงง่าย ไม่กวน)
ถ้าไม่ได้รับการรักษา เด็กจะมีรูปร่างเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้ เรียกว่า สภาพแคระโง่ (cretinism) หรือเด็กเครติน (cretin) ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า โรคเอ๋อ*
*แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่
(1) ชนิดที่เกิดจากภาวะขาดไอโอดีน เนื่องจากมารดาเป็นโรคคอพอกประจำถิ่น เด็กเครตินที่เกิดจากสาเหตุนี้ เรียกว่า สภาพแคระโง่ประจำถิ่น (endemic cretinism)
(2) ชนิดที่เกิดจากต่อมไทรอยด์เจริญไม่ได้เต็มที่ ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้ตั้งแต่แรกเกิด เรียกว่า สภาพแคระโง่แต่กำเนิด (congenital cretinism)
ภาวะแทรกซ้อน
ต่อมไทรอยด์โต (คอพอก) ซึ่งอาจโตมากจนทำให้กลืนลำบาก หรือหายใจลำบาก
ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้ นอกจากนี้ยังอาจทําให้เกิดภาวะหัวใจโต หัวใจวาย
หญิงที่มีภาวะขาดไทรอยด์ อาจเป็นหมัน (เพราะไม่มีไข่ตก) ถ้าผู้ป่วยตั้งครรภ์ อาจเกิดภาวะซีด ครรภ์เป็นพิษ แท้งบุตร ตกเลือดหลังคลอด ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย ทารกมีความพิการหรือเป็นโรคเอ๋อ (ตัวเตี้ยแคระ ปัญญาอ่อน)
มีอาการทางจิตประสาท เช่น ภาวะซึมเศร้า (ซึ่งจะรุนแรงขึ้นตามระยะเวลาการเป็นโรคขาดไทรอยด์) โรคจิต (เช่น ประสาทหลอน หลงตัวเอง) ความจำไม่ดี ปลายประสาทอักเสบ (ปวด ชาตามแขนขา)
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดภาวะหมดสติ เรียกว่า "Myxederna coma"
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในผู้ใหญ่ มักจะพบอาการหน้าและหนังตาบวมฉุ ๆ ผิวหนังหยาบ แห้ง และเย็น ทั้งนี้เนื่องจากมีการสะสมของสารมิวโคโพลีแซ็กคาไรด์อยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
ผมบางและหยาบ ผมร่วง ขนคิ้วร่วง
ชีพจรเต้นช้า อาจต่ำกว่า 50 ครั้ง/นาที
อาจพบอาการลิ้นโตคับปาก ซีด มือเท้าเย็น
มักพบว่ารีเฟล็กซ์ของข้อมือระยะคลายหรือคืนตัว (หลังเกร็งตัว) ช้ากว่าปกติ (delayed relaxation of reflexes)
อาจตรวจพบอาการคอโต (คอพอก) หรือไม่ก็ได้
ในทารก อาจตรวจพบอาการตัวอ่อนปวกเปียกผิวหยาบแห้ง ลิ้นโตคับปาก ท้องป่อง สะดือจุ่น ซีด ดีซ่าน
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด (พบว่ามีระดับของฮอร์ไมนไทร็อกซีนต่ำกว่าปกติ ระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ หรือ TSH มักจะสูง* ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เป็นต้น) อาจต้องตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น เอกซเรย์ (อาจพบว่ามีภาวะหัวใจโต เนื่องจากมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ)
*ถ้าเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง ระดับ TSH ในเลือดอาจต่ำหรือปกติ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา โดยให้ผู้ป่วยกินฮอร์โมนไทร็อกซีน วันละ 1-3 เม็ดทุกวัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นเพียงในเวลาไม่กี่วัน และร่างกายจะเป็นปกติภายในเวลาไม่กี่เดือน ผู้ป่วยจะต้องกินยานี้ไปตลอดชีวิต ถ้าหากขาดยา อาการก็จะกลับกำเริบได้ใหม่
สำหรับทารกแรกเกิด ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ก่อนอายุได้ 1 เดือน (ก่อนมีอาการชัดเจน) เด็กก็จะสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติทั้งทางร่างกายและสมอง แต่เด็กจะต้องกินยาทุกวัน ห้ามหยุดยา
ผลการรักษา หากได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม จะสามารถช่วยให้หายเป็นปกติ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ ในรายที่มีภาวะขาดไทรอยด์ถาวรก็จำเป็นต้องกินยา (ฮอร์โมนไทร็อกซีน) ตลอดไป
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการท้องผูกเป็นประจำ รูปร่างอ้วนขึ้น ทั้ง ๆ ที่กินไม่มาก รู้สึกขี้หนาว หน้าและหนังตาบวมฉุ ๆ หรือ ในทารกแรกเกิด มีอาการซึม ไม่ร้องกวน หลับมาก ต้องคอยปลุกขึ้นให้นม มีอาการเสียงแหบ ท้องผูกบ่อย หรือมีอาการดีซ่านอยู่นานกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะขาดไทรอยด์ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
กินยาแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการใจสั่น ชีพจรเร็ว รู้สึกหิวบ่อย หรือนอนไม่หลับ
ขาดยาหรือยาหาย
กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
การป้องกันมิให้เกิดสภาพแคระโง่ สามารถกระทำได้โดยการตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH) และฮอร์โมนไทร็อกซีนในเลือดของทารกแรกเกิด ถ้าพบว่ามีภาวะขาดไทรอยด์จะได้ให้การรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้เด็กเจริญเติบโตเป็นปกติได้
ดังนั้น จึงแนะนำให้มีการตรวจเลือดทารกแรกเกิดทุกคน (ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการขาดสารไอโอดีน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูง
ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่อยู่ ๆ รู้สึกเฉื่อยชา ทำอะไรเชื่องช้า คิดช้า มีอาการหน้าและหนังตาบวมฉุ ๆ หรือน้ำหนักขึ้นทั้ง ๆ ที่กินไม่มาก โดยที่ไม่มีอาการคอโตหรือคอพอก ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นภาวะขาดไทรอยด์ที่ไม่มีความผิดปกตินำมาก่อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นไทรอยด์อักเสบแบบฮาชิโมโตโดยไม่รู้ตัวมาก่อน)
2. ผู้ที่เป็นต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน/คอพอกเป็นพิษที่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการผ่าตัด หรือกินสารกัมมันตภาพรังสี ควรเฝ้าสังเกตอาการของภาวะขาดไทรอยด์ที่อาจจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา หากมีอาการที่น่าสงสัย ควรไปปรึกษาแพทย์
3. ผู้ที่มีภาวะขาดไทรอยด์บางรายอาจมีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ทั้งนี้อาจเกิดจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ต่อมไทรอยด์โต หรือกล้ามเนื้อบริเวณลำคอและทางเดินหายใจส่วนต้นอ่อนแรงเนื่องจากภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์