ผู้เขียน หัวข้อ: ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C)  (อ่าน 14 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 319
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C)
« เมื่อ: วันที่ 4 พฤศจิกายน 2024, 11:22:48 น. »
ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C)

ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C) เป็นโรคที่ตับเกิดการอักเสบและเสียหายจากการติดเชื้อไวรัสไวรัสตับอักเสบ ซี (HCV) โดยผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแสดงชัดเจนในช่วงแรก โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางเลือด เช่น การใช้เข็มที่ติดเชื้อร่วมกัน ส่วนการติดเชื้อผ่านทางอื่นอย่างการมีเพศสัมพันธ์ หรือการถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารกจะพบได้น้อยมาก

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถนำไปสู่การเกิดอาการที่รุนแรงต่อตับได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบเรื้อรังมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคตับอย่างรุนแรงหรือโรคมะเร็งตับตามมา อย่างไรก็ตาม การรักษาอาจช่วยกำจัดเชื้อไวรัสให้หายขาดอย่างถาวร หรือช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการและดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติได้


อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี จะไม่รู้ตัว เพราะมักจะไม่มีอาการแสดงชัดเจน จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อร่างกายเริ่มแสดงอาการออกมาตอนที่ตับได้รับความเสียหายมากแล้ว มีเพียงผู้ติดเชื้อบางส่วนเท่านั้นที่มีอาการแสดงให้เห็นในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากการติดเชื้อ แต่อาการที่แสดงออกมาจะเกิดเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อเท่านั้น

โดยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเฉียบพลันจะแสดงอาการดังต่อไปนี้

    มีไข้หรืออุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
    รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว
    ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร
    ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดีซ่านร่วมด้วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เองจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงเพิ่มเติม นอกจากจะเกิดการติดเชื้อใหม่อีกครั้ง ส่วนในผู้ป่วยที่ยังมีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายปี อาจกลายเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรัง

โดยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรังมักจะแสดงอาการหลังจากเกิดการติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 10 ปี ซึ่งอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย หรืออาจจะแสดงอาการดังต่อไปนี้

    เป็นไข้ ไม่สบายตัว
    รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา
    ปัสสาวะมีสีเข้ม
    เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
    ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
    อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องอืด
    มีอาการบวมที่ขา เกิดรอยช้ำ หรือมีเลือดออกง่าย
    มีปัญหาเกี่ยวกับความจำในระยะสั้น สมาธิ และความคิด
    อารมณ์แปรปรวน เกิดความวิตกกังวล หรือมีภาวะซึมเศร้า

ในช่วงที่ติดเชื้อแบบเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมสามารถทำให้เกิดโรคตับที่รุนแรงอย่างโรคตับแข็งได้ โดยสัญญาณของการเกิดโรคตับแข็ง ได้แก่ อาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือภาวะดีซ่าน รวมถึงการมีของเหลวสะสมในช่องท้องหรือภาวะท้องมานด้วย หากมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าตนเองติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ควรไปพบแพทย์


สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

เชื้อไวรัสตับอักเสบซี จะติดต่อผ่านทางเลือด จึงอาจพบได้ในผู้ที่ได้รับเลือด หรือได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ. 2535 เพราะในช่วงนั้นประเทศไทยยังไม่สามารถตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ได้ดีพอ หรือพบในผู้ที่มีการใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น เช่น ผู้ที่เสพยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด ผู้ที่เจาะหรือสักร่างกายโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง รวมถึงผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีก็อาจเกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปด้วย

นอกจากนี้ การใช้แปรงสีฟัน กรรไกร หรือกรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง และการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศชายกับเพศชาย ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อได้เช่นกัน แต่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยกว่า และการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกจากการตั้งครรภ์นั้นก็มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสตับอักเสบซี ไม่สามารถติดต่อผ่านการรับประทานอาหารร่วมกัน การใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกัน การให้นมบุตร การสัมผัส การกอด การจูบ รวมถึงการไอหรือจามรดกันด้วย


การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี จะทำโดยการตรวจเลือดเพื่อหาว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หากพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์จะทำการตรวจเลือดในขั้นต่อไป นั่นก็คือการตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือด (Viral Load) และตรวจหาสายพันธ์ุของไวรัส เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถหาทางรักษาโรคได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น


การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

ในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ​ ซึ่งในการคิดเชื้อช่วงเริ่มแรกหรือแบบเฉียบพลัน อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาในทันที เนื่องจากร่างกายอาจกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง โดยแพทย์อาจทำการตรวจเลือดเพื่อดูความเป็นไปได้ของโรคควบคู่ไปด้วย

ส่วนผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรังมีความจำเป็นที่จะต้องรับการรักษา โดยแพทย์จะพิจารณาภาวะสุขภาพของผู้ป่วยก่อนทำการรักษา เช่น ความรุนแรงของโรค สายพันธ์ุของไวรัส และพยาธิสภาพที่ตับ ซึ่งโรคไวรัสตับอักเสบ​ ซี อาจสามารถรักษาด้วยการฉีดยาอินเตอเฟอรอน และการรับประทานยาต้านไวรัส แต่ผลการรักษาอาจแตกต่างกันออกไปตามภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน


ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นเวลานานต่อเนื่องหลายปี หรือเรียกว่าโรคตับอักเสบเรื้อรังจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ ดังนี้

    โรคตับแข็งมักเกิดหลังจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี มาแล้วประมาณ 20–30 ปี โดยเกิดจากการที่ตับอักเสบและถูกทำลายจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
    ภาวะตับวายอาจเกิดจากการเป็นโรคตับแข็งในระยะที่มีความรุนแรงมากจนทำให้ตับหยุดการทำงาน
    โรคมะเร็งตับที่แม้จะมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน


การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนกับโรคไวรัสตับอักเสบ เอ และบี แต่สามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้ด้วยวิธีการดังนี้

    การเจาะหรือสักตามร่างกายควรเลือกร้านที่มีมาตรฐาน และมีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์อย่างถูกสุขอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ตามมา
    ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี รวมไปถึงอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่าด้วย
    หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือการที่ไม่รู้ประวัติสุขภาพของคู่นอน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซีได้

นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพตับให้ดีด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายตับอย่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สุขภาพกายและสุขภาพตับแข็งแรง รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ด้วย