ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: โปลิโอ (Polio)  (อ่าน 102 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 336
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: โปลิโอ (Polio)
« เมื่อ: วันที่ 16 สิงหาคม 2024, 15:37:40 น. »
Doctor At Home: โปลิโอ (Polio)

โปลิโอ (Polio) หรือโรคไข้ไขสันหลังอักเสบ คือโรคติดเชื้อร้ายแรงเฉียบพลันที่เกิดจากไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนเข้าทำลายระบบประสาทส่วนกลาง และเซลล์ประสาทสั่งการทำให้กล้ามเนื้อฝ่อ เป็นอัมพาตอ่อนเปียก (Flaccid paralysis) ขยับแขนขาไม่ได้ หายใจลำบาก และอาจเป็นเหตุให้พิการและเสียชีวิตได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีน สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป มีการปรับสูตรวัคซีนป้องกันโปลิโอเป็นสูตรใหม่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงพิการ ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานที่อายุครบกำหนด เข้ารับวัคซีนป้องกันได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง

โปลิโอ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

โปลิโอ (Polio, poliomyelitis) มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) ซึ่งมีอยู่ 3 สายพันธุ์ เป็นไวรัสในกลุ่ม Enterovirus ตระกูลเดียวกันกับไวรัสโรคโรคมือ เท้า ปาก และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยการรับเอาเชื้อไวรัสเข้าทางปากผ่านการทานอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป โดยเมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะเดินทางเข้าสู่ต่อมทอนซิล เพิ่มจำนวนในลำคอ เดินทางต่อสู่กระเพาะอาหาร ผ่านลงลำไส้ที่เป็นรังโรค แล้วจึงแบ่งตัวลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม โดยมีเพียง 1-2% เท่านั้นที่ไวรัสจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เซลล์ประสาทไขสันหลังและก้านสมอง เข้าทำลายระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) และเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron) ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเป็นอัมพาต

โปลิโอ ติดต่อได้อย่างไร?

โปลิโอเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายผ่านการรับเอาเชื้อไวรัสโปลิโอที่ถูกขับออกจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อ 2 ช่องทาง คือทางปาก และทางอุจจาระเข้าสู่ร่างกายของอีกผู้หนึ่งจนทำให้เกิดการติดเชื้อ โปลิโอสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ดังนี้

    ทางปาก-ปาก (Oral-oral route) โดยเชื้อไวรัสที่สะสมอยู่ที่บริเวณลำคอ (Oropharynx) และทางเดินอาหารส่วนบน (Upper GI tract) ของผู้ที่มีเชื้อไวรัสโปลิโอถูกขับออกมาผ่านสารคัดหลั่ง (Pharyngeal secretion) เช่น เสมหะ หรือละอองฝอยจากการไอจามหกรดลงไปในอาหาร หรือน้ำดื่มและเข้าสู่ปากของอีกคนหนึ่ง
    ทางอุจจาระ-ปาก (Fecal-oral route) ในพื้นที่ที่สุขอนามัยไม่ได้มาตรฐาน หรือสาธารณะสุขขั้นพื้นฐานไม่ได้รับการพัฒนา สามารถพบการระบาดของไวรัสโปลิโอจากคนสู่คนผ่านทางอุจจาระ โดยเชื้อไวรัสที่สะสมอยู่ที่บริเวณลำไส้ (Intestines) ที่ถูกขับถ่ายออกมา ติดมือเข้าสู่ร่างกายของอีกคนหนึ่งผ่านการใช้มือที่ไม่สะอาดหยิบจับอาหารเข้าสู่ปาก


โปลิโอ มีอาการอย่างไร?

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโปลิโอมีอาการแตกต่างกันตามแต่ละบุคคลและสามารถเป็นพาหะนำโรคสู่ผู้อื่นได้ โดยผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดงใด ๆ ผู้ที่ติดเชื้อเพียง 1-2% เท่านั้นที่จะมีการดำเนินโรคเข้าสู่ระดับอาการรุนแรงที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต อาการของโรคโปลิโอสามารถจำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

    กลุ่มที่ไม่มีอาการ (Asymptotic) ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโปลิโอราว 70-90% ไม่มีอาการใด ๆ และสามารถเป็นพาหะนำโรคสู่ผู้อื่นได้
    กลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย (Abortive poliomyelitis, minor illness) พบราว 5% โดยมีอาการคล้ายไข้หวัด และมีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดท้องหรือท้องผูก จากนั้น 2-3 วันอาการจึงหายเป็นปกติโดยไม่มีอาการอัมพาต
    กลุ่มที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Non-paralytic poliomyelitis) พบได้น้อยมากเพียง 1% เท่านั้นโดยอาจมีอาการของกลุ่ม Abortive poliomyelitis นำมาก่อน แล้วตามมาด้วยอาการปวดต้นคอ คอแข็งเกร็งชัดเจน ปวดศีรษะรุนแรง รู้สึกเจ็บแปลบเหมือนมีหนามทิ่มตำที่แขนขา ปวดกล้ามเนื้อ มีภาวะตาแพ้แสง (Photophobia) การตอบสนองของกล้ามเนื้อลดลง และกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากนั้นราว 1-2 สัปดาห์ อาการจึงหายเป็นปกติโดยไม่มีอาการอัมพาต
    กลุ่มที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis) เป็นอาการของโรคโปลิโอที่มีความรุนแรงที่สุด และพบได้ยากที่สุดราว 1-2% โดยแบ่งอาการออกได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้
        4.1 กลุ่มที่มีอาการอัมพาตระยะที่ 1 มีอาการคล้ายคลึงกับกลุ่มที่มีอาการเพียงน้อย และกลุ่มเยื่อหุ้มสมองอักเสบนำมาก่อน โดยมีไข้ 3-4 วันหายและกลับมาเป็นใหม่ ตามมาด้วยอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างแรงทั่วร่างกาย มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไป มีอาการเกร็งกล้ามเนื้อนำมาก่อนแล้วจึงเริ่มเป็นอัมพาตที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยรีเฟล็กซ์ (Reflex) หรือการตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติจะค่อย ๆ ลดลงก่อนที่จะมีอาการอัมพาตโปลิโออย่างเต็มที่ภายใน 48 ชั่วโมง ร่วมกับอาการดังนี้ เช่น อัมพาตอ่อนเปียก (Flaccid paralysis) เป็นอัมพาตโปลิโอที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเป็นอัมพาตที่แขน ขา หรือกล้ามเนื้อลำตัว หน้าอก หน้าท้อง โดยพบที่ขามากกว่าแขนโดยเฉพาะบริเวณต้นขาหรือต้นแขนมากกว่าส่วนปลายอวัยวะ และจะเป็นที่ขาเพียงข้างเดียวมากกว่าขาทั้ง 2 ข้าง (Asymmetry) แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบความรู้สึก (Sensory)
        4.2 กลุ่มที่มีอาการอัมพาตระยะที่ 2 เป็นอัมพาตโปลิโอระดับรุนแรงเฉียบพลันที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเส้นประสาทสมองในส่วนที่เชื่อมกับก้านสมอง (Medulla oblongata) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต การกิน การกลืน และการพูด ทำให้หายใจลำบาก กลืนลำบาก พูดลำบาก อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด


การวินิจฉัยโปลิโอ มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคโปลิโอโดยการซักประวัติ ทำการตรวจร่างกาย และตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกโรคและยืนยันโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนหรือมีการเดินทางไปยังถิ่นระบาด หรือผู้ที่มีอาการอัมพาตแบบอ่อนเปียก (Acute flaccid paralysis: AFP) โดยแพทย์จะมีวิธีการวินิจฉัยดังนี้

    การตรวจร่างกาย (Physical examination) ทดสอบรีเฟล็กซ์ (Reflex) หรือปฏิกิริยาตอบสนองของกล้ามเนื้อหากมีความผิดปกติในการตอบสนอง โดยการใช้ค้อนยางเคาะเพื่อดูปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อ ข้อเข่า ข้อเท้า ตรวจร่างกายหากมีอาการคอแข็งเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก กลืนลำบาก พูดลำบาก
    การเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคติดเชื้อเอนเทอโร (Lab testing for enteroviruses)
        การตรวจสารคัดหลั่งจากลำคอ (Oropharyngeal swab) เป็นการใช้ไม้ป้ายลำคอเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสในช่วงสัปดาห์แรกที่สงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อ
        การตรวจอุจจาระ (Stool examination) เป็นการเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาเชื้อไวรัสจำเพาะต่อโรคโปลิโอ ทั้งนี้ ตัวอย่างเสมหะ หรือสารคัดหลั่งจากลำคอสามารถใช้ตรวจได้ในช่วงสัปดาห์แรกเท่านั้น ไม่สามารถนำไปตรวจหาเชื้อได้ในสัปดาห์ถัดไป การตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธีการตรวจอุจจาระจึงที่มีความแม่นยำกว่า
        การตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid examination) เพื่อแยกโรคโปลิโอออกจากโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ
        การตรวจทางระบบประสาท/การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Neuroimaging/Electrodiagnostic testing) เป็นการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลายและกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดต่าง ๆ
        การตรวจหาปริมาณภูมิคุ้มกันร่างกาย (Antibody level test) เป็นการตรวจแอนติบอดีจำเพาะที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับไวรัสหลังติดเชื้อ
        การตรวจพีซีอาร์ (Polymerase chain reaction: PCR) เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโปลิโอในร่างกาย
        การเพาะเชื้อ (Culture) เป็นการนำสารคัดหลั่งในร่างกายมาเพาะเลี้ยงในน้ำเลี้ยงเชื้อชนิดพิเศษเพื่อวินิจฉัยโรค



การรักษาโปลิโอ มีวิธีการอย่างไร?

โปลิโอเป็นโรคที่ไม่วิธีรักษาให้หาย การรักษาโรคโปลิโอจึงเน้นการรักษาตามอาการและการทำกายภาพบำบัดเพื่อเร่งฟื้นฟูกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ด้วยวิธีการดังนี้

    การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ และให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
    การให้ยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวด
    การใช้เครื่องช่วยหายใจแบบพกพา (Portable ventilators) เพื่อช่วยในการหายใจ
    การประคบอุ่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ และอาการกล้ามเนื้อกระตุก
    การฝึกกลืน (Swallowing exercise) โดยการบริหารกล้ามเนื้อรอบปากและลิ้น ฝึกการดื่มน้ำ การทานอาหารเหลว
    การเข้าเฝือก (Splint) หรืออุปกรณ์ช่วยยึดลำตัวเพื่อช่วยจัดกระดูกสันหลัง และแขนขาให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
    การทำกายภาพบำบัด (Physical therapy) เพื่อป้องกันกระดูกผิดรูป และการสูญเสียกล้ามเนื้อ


ภาวะแทรกซ้อนโรคโปลิโอ เป็นอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโปลิโอที่ร้ายแรงที่สุดคือการเป็นอัมพาตที่ระบบทางเดินหายใจที่ทำให้หายใจลำบาก และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนของโรคโปลิโออื่น ๆ ได้แก่

    อาการอัมพาตถาวร เดินไม่ได้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้า
    อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อรุนแรงแบบเรื้อรังบริเวณขา เอว ข้อมือ ศีรษะ
    กลืนลำบาก พูดลำบาก ที่อาจทำให้เกิดการสำลัก
    กล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจอ่อนแรงและฝ่อลีบ ทำให้หายใจลำบาก หายใจไม่เต็มที่ หรือหยุดหายใจขณะหลับ
    การหดตัวของกล้ามเนื้อที่ทำให้กระดูกหรือข้อต่าง ๆ ผิดรูป
    ภาวะหลังแบน (Flat-back syndrome) ลำตัวโค้งเอนไปทางด้านหน้า ไม่สามารถยืนตรงได้เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง


การป้องกันโรคโปลิโอ มีวิธีการอย่างไร?

วิธีการการป้องกันโรคโปลิโอที่ดีที่สุดคือการรับฉีดวัคซีนป้องกัน และหยอดวัคซีนกระตุ้นซ้ำจนครบกำหนด และปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติดังนี้

    การรับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (IPV, OPV) โดยแพทย์กำหนดให้รับวัคซีนทั้งสิ้น 5 ครั้งเมื่อมีอายุครบ 2, 4, 6, และ 18 เดือน และรับวัคซีนกระตุ้นครั้งสุดท้ายเมื่อมีอายุครบ 4 ปี
    การปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ถูกต้อง ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร การขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ


วัคซีนป้องกันโปลิโอสูตรใหม่

สำหรับประเทศไทย กำหนดให้วัคซีนโปลิโอเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กทุกคน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป มีการปรับสูตรวัคซีนโปลิโอแบบใหม่ให้เป็นแบบ 2 IPV + 3 OPV หรือฉีด 2 ครั้ง หยอด 3 ครั้ง เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงพิการ วัคซีนป้องกันโปลิโอแบบใหม่ มีรายละเอียดดังนี้

    วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด (Inactivated poliomyelitis vaccine: IPV) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine) โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ 2 เข็ม เข็มแรกเมื่ออายุครบ 2 เดือน และเข็มที่สอง เมื่ออายุครบ 4 เดือน
    วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดหยอด (Oral polio vaccine: OPV) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated virus vaccine) โดยการหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (OPV) 3 ครั้ง เมื่ออายุครบ 6 เดือน 18 เดือน และเมื่ออายุครบ 4 ขวบ


โปลิโอ โรคร้ายที่ป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีน

โปลิโอเป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากคนสู่คนที่เป็นเหตุให้พิการและเสียชีวิตซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบวิธีการรักษาให้หาย ในประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโปลิโอตั้งแต่ปี 2540 แต่กระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคยังคงจัดให้โปลิโอเป็นโรคที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง เนื่องจากในช่วง 3 ปีหลังมีแนวโน้มการระบาดโดยมีผู้ติดเชื้อในหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย

โปลิโอเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยรับการรับวัคซีน คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุครบกำหนด 2 เดือนสามารถพาบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเข็มแรก เข็มถัดไป และหยอดวัคซีนซ้ำจนครบกำหนดได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ถูกต้อง กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และสะอาด เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ปลอดภัย และห่างไกลจากโรคโปลิโอได้