ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: พิษหอยทะเล (Shellfish poisoning)  (อ่าน 60 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 375
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: พิษหอยทะเล (Shellfish poisoning)
« เมื่อ: วันที่ 30 กันยายน 2024, 22:21:16 น. »
Doctor At Home: พิษหอยทะเล (Shellfish poisoning)

หอยทะเลเป็นกาบคู่ เช่น หอยแมลงภู่ หอยแครง หอยนางรม เป็นต้น บางครั้งอาจมีพิษซึ่งมีอยู่หลายชนิด* ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการเป็นพิษ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง ส่วนน้อยอาจรุนแรงถึงตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจากพิษที่มีชื่อว่า แซกซิท็อกซิน ซึ่งจะมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้ายพิษปลาปักเป้าและแมงดาถ้วย

พิษหอยทะเลทุกชนิดมีความทนต่อความร้อน

*พิษที่พบในหอยทะเลเกิดจากหอยทะเลกินสาหร่ายพิษเป็นอาหาร จึงมีการสะสมพิษอยู่ในเนื้อหอย ชนิดของพิษที่พบในหอยทะเล มีดังนี้ (3 ชนิดแรกมีพิษต่อประสาท ชนิดที่ 4 ไม่มีพิษต่อประสาท)

1. พิษชนิดที่ร้ายแรงมาก คือ แซกซิท็อกซิน (saxitoxin) สังเคราะห์โดยสาหร่ายแดงซึ่งเป็นพืชเซลล์เดียวกลุ่ม dinoflagellate ที่มีชื่อว่า Gonyaulax มีลักษณะเป็นสีแดง ลอยเป็นแพยาว ชาวบ้านเรียกว่า "ขี้ปลาวาฬ" ซึ่งจะแพร่พันธุ์มากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ทำให้น้ำทะเลเป็นสีน้ำตาลแดง (red tide) พิษชนิดนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ขัดขวางการสื่อกระแสประสาทแบบเดียวกับเทโทรโดท็อกซินในปลาปักเป้า ทำให้เกิดอาการแสดงแบบเดียวกับพิษปลาปักเป้า (ดู "พิษปลาปักเป้า" เพิ่มเติม)

2. พิษที่ร้ายแรงรองลงมา คือ กรดโดโมอิก (domoic acid) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายสารกลูทาเมต (glutamate) สังเคราะห์โดยสาหร่ายกลุ่ม diatom ที่มีชื่อว่า Nitzschia pungens พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ทำให้โซเดียมเข้าไปในเซลล์ประสาทมากขึ้น และโพแทสเซียมออกจากเซลล์ประสาทมากขึ้น เกิดอาการความจำเสื่อม และอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง

3. พิษต่อประสาทอีกชนิดหนึ่ง คือ เบรเวท็อกซิน (brevetoxin) สังเคราะห์โดยพืชเซลล์เดียวกลุ่ม dinoflagellate ที่มีชื่อว่า Ptychodiscusbrevis ออกฤทธิ์คล้ายพิษซิกัวท็อกซิน ทำให้เกิดอาการคล้ายพิษปลาทะเล แต่จะไม่มีอาการกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต

4. กรดโอคาเเดอิก (okadaic acid) สังเคราะห์โดยพืชเซลล์เดียวกลุ่ม dinoflagellate ที่มีชื่อว่า Dinophysis เเละ Prorocentrum พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์โดยไปจับกับเซลล์เยื่อบุลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องเดินเป็นสำคัญ

สาเหตุ

เกิดจากการบริโภคหอยทะเลพิษโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อาการ

ขึ้นกับชนิดและปริมาณพิษที่ได้รับ ดังนี้

1. ถ้าเกิดจากพิษอ่อน ได้แก่ กรดโอคาแดอิก ซึ่งไม่มีพิษต่อประสาท จะมีอาการปวดท้อง อาเจียน และท้องเดินแบบอาการอาหารเป็นพิษทั่วไป อาการเป็นพิษชนิดนี้เรียกว่า "Diarrheal shellfish poisoning/DSP"

2. ถ้าเกิดจากพิษต่อประสาทร้ายแรง ได้แก่ แซกซิท็อกซิน (ซึ่งจะมีความเป็นพิษสูงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม) มักเกิดอาการหลังกินหอยทะเลประมาณ 30 นาที ระยะแรกมีอาการชาและรู้สึกเสียวแปลบ ๆ ที่ริมฝีปาก ลิ้น หน้า แล้วลุกลามรวดเร็วไปที่แขนและขา อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดินตามมา ถ้าเป็นมากจะมีอาการปวดหัว รู้สึกตัวลอย เดินเซ กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดลำบาก กลืนลำบาก ชีพจรเต้นช้า ในที่สุดจะหายใจไม่ได้เนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต อาจตายภายใน 2-24 ชั่วโมง ถ้ารอดชีวิตได้เกิน 24 ชั่วโมง ก็มักจะฟื้นหายเป็นปกติได้ดี โดยทั่วไปมักจะมีอาการอยู่นาน 3-5 วัน เด็กจะเป็นรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ อาการเป็นพิษชนิดนี้เรียกว่า "Paralytic shellfish Poisoning/PSP"

3. ถ้าเกิดจากพิษกรดโดโมอิก จะมีอาการเกิดขึ้นหลังกินหอยทะเลไม่นาน เริ่มต้นด้วยอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ต่อมาจะมีอาการปวดศีรษะ และสูญเสียความจำ (amnesy) เล็กน้อย คือมีอาการหลงลืมไปชั่วคราว (ยกเว้นบางรายอาจรุนแรงจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน) ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการชัก หมดสติ หรือแขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่ง หากไม่ได้รับการรักษา มีอัตราตายประมาณร้อยละ 3 อาการเป็นพิษชนิดนี้เรียกว่า "Amnestic shellfish posioning/ASP"

4. ถ้าเกิดจากพิษเบรเวท็อกซิน จะมีพิษต่อประสาทคล้ายพิษปลาทะเล เกิดอาการหลังกินหอยทะเล 15 นาที ถึง 18 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน แสบก้น และรู้สึกเสียวแปลบ ๆ ที่หน้า ลำตัว และแขนขา การรับรู้อุณหภูมิแบบกลับตาลปัตร ปวดกล้ามเนื้อ เดินเซ เห็นบ้านหมุน อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น อาการสั่น กลืนลำบาก ชีพจรเต้นช้า รูม่านตาขยาย แต่จะไม่เกิดอาการกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต อาการจะเป็นอยู่นาน 1-72 ชั่วโมง โดยฟื้นหายได้เป็นปกติ (ไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากโรคนี้) อาการเป็นพิษชนิดนี้เรียกว่า "Neurologic shellfish poisoning/NSP"

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะขาดน้ำรุนแรง จนถึงช็อก

ถ้าเป็นจากพิษร้ายแรงก็อาจเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วย

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ที่พบได้บ่อย คือ ภาวะขาดน้ำ (หากทดแทนไม่เพียงพอ)

ส่วนในรายที่รับพิษต่อประสาท จะพบอาการเสียวแปลบ ๆ ที่ปาก ลิ้น หน้า เเขนขา การรับรู้อุณหภูมิเเบบกลับตาปัตร อาการหลงลืม

ในรายที่เป็นรุนแรงอาจพบกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ รูม่านตาขยาย ชัก หมดสติ

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาขั้นพื้นฐาน (อ่านเพิ่มเติมที่ "การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ" ด้านล่าง) และแก้ไขตามอาการที่พบเช่นเดียวกับพิษปลาปักเป้าและพิษปลาทะเล เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้อะโทรพีนในรายที่ชีพจรเต้นช้า เป็นต้น

การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ

1. ถ้าผู้ป่วยกินสัตว์หรือพืชพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และยังไม่อาเจียน รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนด้วยการให้ไอพีเเคกน้ำเชื่อมหรือใช้นิ้วล้วงคอ

2. ให้ผู้ป่วยกินผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1 แก้ว โดยให้ผู้ป่วยดื่มเอง ถ้าอาเจียนหรือดื่มเองไม่ได้ ให้ป้อนผ่านท่อสวนกระเพาะ (stomach tube) ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ควรใส่ท่อช่วยหายใจก่อนเพื่อป้องกันการสำลัก

ควรให้เร็วที่สุดเมื่อพบผู้ป่วย (วิธีนี้จะได้ผลมากที่สุดเมื่อให้กินภายใน 30 นาทีหลังกินสัตว์หรือพืชพิษ) ไม่ควรให้ก่อนหรือหลังให้ยาที่ทำให้อาเจียน

ในรายที่รับพิษร้ายเเรง เช่น ปลาปักเป้า แมงดาถ้วย เห็ดพิษร้ายแรง หรือสงสัยรับพิษปริมาณมาก ควรให้ซ้ำทุก 4 ชั่วโมง

3. ทำการล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำ

วิธีนี้จะได้ผลดี เมื่อผู้ป่วยกินสารพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และไม่มีอาการอาเจียน ถ้าทำหลังกินสารพิษมากกว่า 4 ชั่วโมง อาจไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มกับผลข้างเคียง (ที่สำคัญคือ การสำลักเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ)

ควรกระทำโดยบุคลากรที่ชำนาญ และในที่ที่มีความพร้อม

ไม่จำเป็นต้องทำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก และห้ามทำในผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัว หมดสติ

อาจให้ผงถ่านกัมมันต์กินก่อนล้างกระเพาะ หรือผสมผงถ่านกัมมันต์ในน้ำล้างกระเพาะก็ได้

4. ให้ผู้ป่วยดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนต ขนาด 2-5% จำนวน 50 มล.

5. ให้กินยาระบาย ซอร์บิทอล (sorbitol) ขนาด 70% อาจกินเดี่ยว ๆ หรือผสมกับผงถ่านกัมมันต์แทนน้ำก็ได้ ถ้าไม่มีอาจให้ยาระบายอื่น ๆ เช่น ยาระบายแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) แทน ให้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

ห้ามทำ ในรายที่มีอาการถ่ายท้องมากอยู่แล้ว หรือมีภาวะขาดน้ำที่ยังไม่ได้รับการทดแทน

6. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

7. ถ้าชักฉีดไดอะซีเเพม 5-10 มก.เข้าหลอดเลือดดำ

8. ถ้าหยุดหายใจหรือหายใจไม่ได้ ให้ทำการช่วยเหลือด้วยการเป่าปาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

9. ถ้าหมดสติ ให้การรักษาแบบหมดสติ

การดูแลตนเอง

หากสงสัยว่าผู้ป่วยเกิดอาการพิษหอยทะเล ควรทำการปฐมพยาบาลแล้วรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

การปฐมพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่กินสารพิษ สัตว์พิษ หรือพืชพิษ

1. รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อขับพิษออก

    ถ้ามียากระตุ้นอาเจียน ได้แก่ ไอพีแคกน้ำเชื่อม (syrup ipecac) ให้กินครั้งละ 15-30 มล. (เด็กโต 15 มล.) และดื่มน้ำตามไป 1 แก้ว ถ้ายังไม่อาเจียนใน 20 นาที กินซ้ำได้อีก 1 ครั้ง
    ถ้าไม่มียา ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1 แก้ว แล้วใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอกระตุ้นให้อาเจียน ถ้าไม่ได้ผลทำซ้ำอีกครั้ง

ควรเก็บเศษอาหารที่อาเจียน ไว้ส่งตรวจวิเคราะห์

วิธีนี้จะได้ผลดี ต้องรีบทำภายใน 1 ชั่วโมงหลังกินสารพิษ และไม่ต้องทำหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเองอยู่แล้ว

ห้ามทำ ในผู้ป่วยที่ชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ หรือกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์ หรือสารพิษไม่ทราบชนิด

2. ถ้ามีผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ให้กินขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1/2-1 แก้ว เพื่อลดการดูดซึมสารพิษเข้าร่างกาย (ไม่ต้องทำถ้าผู้ป่วยกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์)

ถ้าไม่มีผงถ่านกัมมันต์ ให้กินไข่ดิบ 5-10 ฟอง หรือดื่มนมหรือน้ำ 4-5 แก้ว

3. สำหรับผู้ป่วยที่กินพาราควอต ให้กินสารละลายดินเหนียว (Fuller’s earth) โดยผสมผงดินเหนียว 150 กรัม หรือ 2 1/2 กระป๋อง ในน้ำ 1 ลิตร ถ้าไม่มีให้ดื่มน้ำโคลนดินเหนียวจากท้องร่องในสวน (ที่ไม่มีตะปูหรือเศษแก้ว หรือสารพิษตกค้าง) ซึ่งจะลดพิษของยานี้ได้

4. สำหรับผู้ที่กินปลาปักเป้า แมงดาถ้วย ปลาทะเลพิษ หอยทะเลพิษ เห็ดพิษ ให้ดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนตขนาด 2-5% จำนวน 50 มล. (อาจเตรียมโดยผสมผงฟู 1-2.5 กรัม ในน้ำ 50 มล.) ซึ่งจะช่วยลดพิษของอาหารพิษได้

ห้ามทำ ข้อ 2-4 ถ้าผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ

5. ถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

6. ถ้าผู้ป่วยชักหรือหมดสติ ให้ทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยชัก (อ่านใน "โรคลมชัก" เพิ่มเติม) หรือหมดสติ (อ่านใน "อาการหมดสติ" เพิ่มเติม)

7. รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ควรนำสารพิษที่ผู้ป่วยกินหรืออาเจียนออกมาไปให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์ด้วย

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการบริโภคหอยทะเลในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เพราะช่วงนี้มีการแพร่พันธุ์ของสาหร่ายแดง ทำให้หอยมีพิษมาก

2. ควรบริโภคหอยทะเลในปริมาณพอประมาณอย่ามากเกิน เพื่อลดปริมาณพิษที่อาจจะได้รับโดยบังเอิญ

ข้อแนะนำ

ควรให้ความรู้แก่คนทั่วไปให้ทราบถึงพิษภัยของหอยทะเล และแนะนำว่าถ้ามีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดินหลังกินหอยทะเล ควรสังเกตว่ามีอาการของระบบประสาท เช่น ชา และเสียวแปลบ ๆ ที่ปาก ลิ้น หน้า แขนขา การรับรู้อุณหภูมิแบบกลับตาลปัตร กล้ามเนื้ออ่อนเเรง มีอาการหลงลืม ถ้าสงสัยควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว