ตรวจโรคหัวใจ
การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุโรคหัวใจเบื้องต้นจะเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อช่วยให้ระบุได้ว่าเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์จะใช้การทดสอบสมรรถภาพของหัวใจด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ ดังนี้
1. การตรวจโรคหัวใจจากเลือด
การตรวจเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจ (High-Sensitivity C-reactive protein: hs-CRP) เป็นการตรวจเพื่อบอกถึงค่าความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โดยการตรวจหาระดับโปรตีน C-reactive Protein ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีอยู่ในเลือด หากเซลล์อักเสบอย่างต่อเนื่อง ระดับ CRP ก็จะสูงตาม ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
การตรวจคัดกรองโรคหัวใจด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG (Electrocardiogram) เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่า การทำงานของหัวใจยังสม่ำเสมอหรือไม่ และสามารถตรวจหาความเสี่ยงต่อโรคที่มีผลกับการทำงานของหัวใจได้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG อาจไม่พบเจอโรคหากไม่มีอาการ อาจจะต้องพึ่งการตรวจด้วยรูปแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) เป็นต้น
3. การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST)
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คล้ายกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยจะใช้แผ่นตะกั่วชุดหนึ่งแปะติดกับหน้าอก และมีการบันทึกขณะที่ออกกำลังกาย เช่น การเดินบนสายพาน หรือขี่จักรยานอยู่กับที่ โดยการทดสอบนี้ใช้วัดค่าการตอบสนองของหัวใจ เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าในร่างกาย จำนวนเลือดที่ไหลไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย
4. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นวิธีที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อจับภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจ โดยจะศึกษาภาพเพื่อวัดและระบุถึงการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ
5. การตรวจหัวใจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
การตรวจหัวใจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography หรือ CT Scan) เป็นวิธีการตรวจหัวใจเพื่อดูเส้นเลือดของหัวใจว่า หัวใจมีความผิดปกติอื่น ๆ ของหลอดเลือดหัวใจบ้างหรือไม่ หลอดเลือดหัวใจตีบ-ตันหรือไม่ รวมถึงใช้เพื่อติดตามผลการรักษาหลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย
6. การสวนหลอดเลือดหัวใจ (CAG)
การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Angiography: CAG) คือการฉีดสารทึบรังสีเพื่อ X-ray ดูช่องทางเดินของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ หรือที่เรียกกันว่าฉีดสีหัวใจ การสวนหลอดเลือดหัวใจนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่า หลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ-ตันหรือไม่ รวมถึงตรวจดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ การเปิด-ปิดของลิ้นหัวใจ และสามารถวัดความดันภายในหัวใจและส่วนต่าง ๆ ของหัวใจได้ หากพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน แพทย์สามารถรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจได้ทันที
การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจมีอะไรบ้าง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/