ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)  (อ่าน 132 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 370
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
« เมื่อ: วันที่ 7 สิงหาคม 2024, 22:35:56 น. »
Doctor At Home: ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)* หมายถึง การหยุดหายใจ หรือหายใจแผ่วช่วงสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยระหว่างนอนหลับ ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง ทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวใจ สมอง และปอด ซึ่งบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

ภาวะนี้พบบ่อยในคนอ้วน เพศชาย ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

ในกลุ่มผู้ชายสูงอายุและอ้วน พบภาวะหยุดหายใจขณะหลับประมาณร้อยละ 10 ขณะที่กลุ่มคนทั่วไปที่นอนกรน พบภาวะนี้เพียงร้อยละ 1

*ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 Central sleep apnea เกิดจากสมองไม่ส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกที่ใช้ในการหายใจ ทำให้หยุดหายใจเป็นช่วง ๆ พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือเนื้องอกสมอง เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 Obstructive sleep apnea เกิดจากภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งพบได้มากกว่ากลุ่มที่ 1 มาก ในที่นี้เมื่อกล่าวถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับก็มักจะหมายถึงกลุ่มที่ 2 นี้

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยดังต่อไปนี้

    อายุ คนที่มีอายุมาก เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อหย่อนยาน ทำให้ช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอแคบลง ลิ้นไก่และลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย โรคนี้พบบ่อยในคนอายุ 40-70 ปี
    เพศ พบภาวะนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิงมีส่วนช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจมีความตึงตัวที่ดีกว่า จึงมีการอุดกั้นทางเดินหายใจน้อยกว่าผู้ชาย แต่หลังวัยหมดประจำเดือนผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้พอ ๆ กับผู้ชาย
    ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้า คนที่มีลักษณะคางสั้น กระดูกใบหน้าแบน จะมีช่องทางเดินหายใจส่วนต้นแคบกว่าปกติ
    ความอ้วน คนที่อ้วนจะมีการสะสมไขมันมากที่ลำคอและทรวงอก ทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนต้นแคบลง และการเคลื่อนไหวของหน้าอกน้อยกว่าปกติ
    การบริโภคแอลกอฮอล์ ยากลุ่มประสาทและยานอนหลับ ทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ รวมทั้งบริเวณลำคออ่อนแรง เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย
    การสูบบุหรี่ ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพลดลง
    กรรมพันธุ์ อาจพบว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นด้วย
    โรคประจำตัว เช่น หืด หวัดภูมิแพ้ ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด พาร์กินสัน ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย เบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์ กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง เป็นต้น
    ในเด็ก อาจเกิดจากทอนซิลโต ต่อมอะดีนอยด์โต หรือมีความผิดปกติแต่กำเนิด (เช่น ใบหน้าเล็ก ลิ้นใหญ่)

เมื่อมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นเกิดขึ้นขณะนอนหลับ ก็จะทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจตามมา ซึ่งอาจแสดงอาการได้ 2 ลักษณะ ได้แก่

1. การหยุดหายใจ (apnea) ไม่มีลมหายใจเข้าออกทางจมูกและปาก เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วินาที

2. การหายใจแผ่ว (hypopnea) มีลมหายใจเข้าออกทางจมูกหรือปากลดลงอย่างน้อยร้อยละ 50 เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วินาที สังเกตได้จากการกระเพื่อมของหน้าอกและท้องลดลง

ขณะที่หยุดหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือดจะต่ำลง ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนไปเลี้ยงน้อยลง เมื่อลดลงถึงระดับหนึ่ง สมองจะมีกลไกตอบสนองโดยอัตโนมัติ ปลุกให้ตื่นจากหลับ และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้นตึงตัว เปิดช่องทางเดินหายใจให้โล่ง (ผู้ป่วยจะมีอาการสะดุ้ง สำลักน้ำลายตนเอง หรือหายใจเฮือกอย่างดังและแรง) ผู้ป่วยก็จะกลับมาหายใจเป็นปกติ พอหลับไปได้สักพักหนึ่งก็เกิดภาวะหยุดหายใจอีก แล้วสมองก็จะปลุกให้ตื่นอีก เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตลอดทั้งคืน อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นมากกว่าชั่วโมงละ 10 ครั้ง ทำให้นอนหลับไม่เต็มที่ แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวว่ามีการสะดุดของการนอน และเข้าใจว่าตัวเองนอนหลับได้ดี

อาการ

ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีอาการนอนกรนเสียงดัง สร้างความรำคาญแก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ร่วมกับมีการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วเป็นช่วง ๆ (ผู้ที่อยู่ข้าง ๆ จะสังเกตเห็นหน้าอกและท้องไม่กระเพื่อม หรือกระเพื่อมน้อยลง) นานอย่างน้อย 10 วินาที บางครั้งอาจนานถึง 1 นาที

ผู้ป่วยจะรู้สึกนอนหลับไม่สนิท นอนกระสับกระส่าย นอนอ้าปากหายใจให้ได้อากาศ หรือสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะรู้สึกเหมือนขาดอากาศหายใจ และเวลาตื่นขึ้นมารู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอ 

หลังตื่นนอนตอนเช้ามักมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย รู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม ทั้งที่มีเวลานอนนานเพียงพอ

ผู้ป่วยมักมีอาการง่วงนอนบ่อย นั่งสัปหงก หรือหลับง่ายในช่วงเวลากลางวัน เช่น ขณะทำงาน เรียนหนังสือ นั่งคุยกับผู้อื่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หลังอาหารกลางวัน เป็นต้น บางครั้งมีอาการหลับในขณะขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรจนได้รับอุบัติเหตุ

ผู้ป่วยมักมีอารมณ์หงุดหงิด หรืออารมณ์เสียง่าย เสียสมาธิ หลงลืมง่าย

ในเด็ก อาจมีอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนหรือปัสสาวะรดที่นอน นอนดิ้นไปดิ้นมา หลับไม่สนิท ผวาตื่นหรือฝันร้าย ร่างกายไม่แข็งแรงร่วมด้วย


ภาวะแทรกซ้อน

ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนง่าย อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หงุดหงิดง่าย เสียสมาธิ ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และอาจเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถหรือการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ในเด็กอาจทำให้เรียนหนังสือได้ไม่ดี หรือมีปัญหาด้านความประพฤติได้

นอกจากนี้ หากปล่อยให้เป็นเรื้อรังนาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษา อาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น

    ความดันโลหิตสูง เนื่องจากมีการหลั่งสารอะดรีนาลินออกมาในร่างกายมากกว่าปกติ พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
    เบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับเพิ่มโอกาสของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance)
    โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (อาจเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ) โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลว)
    ผู้ที่มีโรคหัวใจขาดเลือดอยู่ก่อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
    ตับมีความผิดปกติ เช่น มีเอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง และภาวะไขมันสะสมในตับ
    ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือองคชาตไม่แข็งตัว (erectile dysfunction/ED)
    ความผิดปกติทางจิตประสาท เช่น ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง โรคซึมเศร้า เป็นต้น 
    อาการนอนกรนเสียงดังยังส่งผลต่อปัญหาสังคม คือ อาจเป็นเหตุของการหย่าร้างระหว่างสามีภรรยา
    ในเด็ก อาจทำให้พัฒนาการของร่างกายและสมองแย่ลง ฮอร์โมนเจริญเติบโต (growth hormone) มีปริมาณลดลง ทำให้มีความสูงน้อยกว่าเด็กปกติ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หรือปัสสาวะรดที่นอน นั่งสัปหงกในห้องเรียน ไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนไม่ดี


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกายขณะตื่นนอนตอนกลางวัน มักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน ยกเว้นบางคนอาจตรวจพบว่ามีรูปร่างอ้วน ความดันโลหิตสูง

การตรวจร่างกายขณะนอนหลับ จะพบอาการกรนเสียงดัง และมีภาวะหยุดหายใจ หรือหายใจแผ่วเป็นช่วง ๆ

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจความผิดปกติระหว่างการนอนหลับด้วยวิธีที่เรียกว่า "Polysomnography (PSG)" โดยต้องไปนอนค้างที่โรงพยาบาล แล้วใช้อุปกรณ์ตรวจวัดลักษณะการหายใจ และการเปลี่ยนแปลงของหัวใจ ปอด สมอง การเคลื่อนไหวของแขนขา ระดับออกซิเจนในเลือด

นอกจากนี้ ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือมีอาการที่สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

1. แพทย์จะเริ่มต้นให้การดูแลรักษา ด้วยการให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่

    การลดน้ำหนักตัว ควรลดให้ได้มากกว่าร้อยละ 10 อาจมีผลทำให้หายขาดในผู้ป่วยบางรายได้
    หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำให้ร่างกายแข็งแรง มีส่วนช่วยให้อาการทุเลาได้ แม้ว่าจะมีน้ำหนักตัวเกิน
    หลีกเลี่ยงการบริโภคแอลกอฮอล์และยานอนหลับก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่าย และหยุดหายใจนานขึ้น 
    พยายามนอนในท่าตะแคง หรือท่าที่ทำให้อาการลดลง (สมัยก่อนมีการใช้ถุงใส่ลูกเทนนิส 3-4 ลูกติดไว้ด้านหลังของเสื้อนอน เพื่อบังคับให้ผู้ป่วยนอนตะแคง)
    งดสูบบุหรี่

2. ถ้าไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรง ก็จะให้การรักษาเพิ่มเติม ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายวิธี ดังนี้

    การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม ช่วยเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจในช่วงนอนหลับ วิธีนี้ใช้ได้ผลในรายที่เป็นไม่รุนแรง
    การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure/CPAP) เพื่อช่วยหายใจขณะนอนหลับ มีลักษณะเป็นหน้ากากใช้สวมจมูกเวลานอน สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นรุนแรง และได้ผลในการแก้ภาวะนี้ได้มากกว่าร้อยละ 90
    การผ่าตัดขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ซึ่งมีอยู่หลายวิธี แพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากทอนซิลโตหรือต่อมอะดีนอยด์ (adenoid) โต ก็รักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์

3. หากพบมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น แพทย์ก็จะทำการรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป

ผลการรักษา ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้อาการหายเป็นปกติได้ด้วยการปรับพฤติกรรม และ/หรือใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) ส่วนน้อยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด


การดูแลตนเอง

หากมีอาการนอนกรน ร่วมกับมีความรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม มีอาการปวดศีรษะหรืออ่อนเพลียหลังตื่นนอน หรือมีอาการง่วงนอนหรือนั่งสัปหงกง่ายในเวลากลางวัน ควรปรึกษาแพทย์ 

เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปฏิบัติ ดังนี้

    ดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ปรับพฤติกรรมที่มีส่วนช่วยในการรักษาโรคอย่างจริงจัง ได้แก่ ลดน้ำหนักตัว ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการบริโภคแอลกอฮอล์และยานอนหลับก่อนเข้านอน งดสูบบุหรี่ พยายามนอนในท่าตะแคง
    สงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

การป้องกัน

สำหรับกลุ่มที่มีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวและพฤติกรรม อาจป้องกันหรือทำให้โรคทุเลาได้ด้วยการปฏิบัติตัว ที่สำคัญคือ การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก การไม่บริโภคสุราและยาสูบ และการควบคุมโรค (เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หวัดภูมิแพ้ หืด ภาวะขาดไทรอยด์ เป็นต้น)

ข้อแนะนำ

1. อาการนอนกรน (snoring) มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดไม่อันตราย (ซึ่งไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพียงแต่สร้างความรำคาญแก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง) และชนิดอันตราย (ซึ่งมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย และส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย) ดังนั้น ถ้ามีอาการนอนกรน ควรสังเกตว่ามีภาวะหยุดหายใจ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ (เช่น ง่วงนอนหรือหลับง่ายในเวลากลางวัน อารมณ์หงุดหงิด เสียสมาธิ หลงลืมง่าย ความดันโลหิตสูง เป็นต้น) ร่วมด้วยหรือไม่ หากสงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยและให้การรักษาแต่เนิ่น ๆ

2. การรักษาโรคนี้ด้วยการใช้เครื่องอัดอากาศ (CPAP) เพื่อช่วยหายใจขณะนอนหลับ จะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่ต้องใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกคืน เมื่อหยุดใช้อาการมักกลับมากำเริบได้อีก

3. การรักษาภาวะนี้ให้ได้ผลอย่างจริงจัง จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะความดันโลหิตสูงที่พบร่วมด้วยก็จะหายได้ ในช่วงที่ยังมีความดันโลหิตสูง อาจจำเป็นต้องให้ยาลดความดัน