ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: เนื้องอกสมอง (Brain tumor)  (อ่าน 79 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 507
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: เนื้องอกสมอง (Brain tumor)
« เมื่อ: วันที่ 22 พฤศจิกายน 2024, 15:12:13 น. »
หมอประจำบ้าน: เนื้องอกสมอง (Brain tumor)

เนื้องอกสมอง หมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งสามารถเกิดจากเซลล์ได้ทุกชนิดที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อทุกส่วนของกะโหลกศีรษะ เนื้องอกสมองจึงมีอยู่ร่วมร้อยชนิด ซึ่งมีชื่อเรียกตามชนิดของเซลล์

เนื้องอกสมองมีทั้งชนิดไม่ร้ายหรือเนื้องอกธรรมดา กับเนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็ง และยังแบ่งเป็นชนิดปฐมภูมิ ซึ่งเกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อภายในกะโหลกศีรษะเอง (มีทั้งเนื้องอกธรรมดา และมะเร็ง) กับชนิดทุติยภูมิ ซึ่งเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากนอกกะโหลกศีรษะ*

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ กล่าวโดยรวมแล้ว โรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มอายุ 40-70 ปี ยิ่งอายุมากก็ยิ่งพบได้มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดทุติยภูมิมากกว่าชนิดปฐมภูมิ

ส่วนในเด็กพบมากในกลุ่มอายุ 3-12 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดปฐมภูมิ และมักเป็นเนื้องอกธรรมดามากกว่ามะเร็ง เนื้องอกสมองที่พบในเด็กเป็นเนื้องอกที่พบได้มากที่สุดในบรรดาเนื้องอกที่พบในเด็ก

โรคนี้มักมีอาการปวดศีรษะเป็นสำคัญ พบว่าผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ 100,000 คน มีสาเหตุจากเนื้องอกสมองประมาณ 10 คน

นอกจากปวดศีรษะแล้ว เนื้องอกสมองยังมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยซึ่งมีได้หลากหลาย ตั้งแต่การรับรู้ การทำงานของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม เนื่องมาจากเนื้องอกกดเบียดหรือทำลายเนื้อเยื่อสมอง เส้นประสาทสมอง และต่อมฮอร์โมนในสมองมีการหลั่งฮอร์โมนมากเกินหรือน้อยเกิน ทั้งนี้ ขึ้นกับขนาด ชนิด และตำแหน่งของเนื้องอก

*เนื้องอกสมอง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1. ชนิดปฐมภูมิ หมายถึง เนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ (เช่น กะโหลกศีรษะ เยื่อหุ้มสมอง เซลล์สมอง เส้นประสาทสมอง ต่อมใต้สมอง ต่อมไพเนียล หลอดเลือด เป็นต้น) มีชื่อเรียกตามชนิดของเซลล์  ซึ่งยังแบ่งเป็นชนิดไม่ร้าย หรือเนื้องอกธรรมดา (benign tumor เช่น meningioma, pituitary tumor, acoustic neuroma, craniopharyngioma) กับชนิดร้ายหรือมะเร็ง (malignant tumor/cancer เช่น  glioma ซึ่งมีหลายชนิดย่อย, medulloblastoma, pineoblastoma) เนื้องอกสมองที่พบในเด็กมักเป็นชนิดปฐมภูมิ และเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายมากกว่าชนิดร้าย

2. ชนิดทุติยภูมิ หมายถึง มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากนอกกะโหลกศีรษะ ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไต มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิพบบ่อยในวัยกลางคนขึ้นไป บางครั้งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของเนื้องอกสมองมากกว่าอาการของมะเร็งที่เป็นต้นกำเนิด

สาเหตุ

เนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ ยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร พบว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

    ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ พบว่ามีเนื้องอกสมองหลายชนิด ซึ่งผู้ป่วยจะมีประวัติว่ามีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นเนื้องอกสมองเช่นเดียวกันด้วย
    รังสี พบว่าเด็กที่รับรังสีจากการใช้รังสีในการตรวจวินิจฉัย หรือรังสีบำบัดที่บริเวณศีรษะ มีโอกาสเป็นเนื้องอกสมองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
    ความอ้วน พบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (meningioma) มากกว่าปกติ

ส่วนเนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งของอวัยวะที่อยู่นอกกะโหลก

อาการ

ในรายที่เนื้องอกมีขนาดเล็ก จะไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการไปพบแพทย์ด้วยเรื่องอื่น

ในรายที่มีอาการ มักมีอาการปวดศีรษะเป็นสำคัญ โดยมีลักษณะเฉพาะคือ ในระยะแรกเริ่ม จะมีอาการปวดศีรษะเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอสาย ๆ ค่อยยังชั่ว หรืออาจปวดมากเวลาล้มตัวลงนอน หรือเวลาไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ

อาการปวดศีรษะจะเป็นในแบบเดิมอยู่ทุกวัน ซึ่งจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นและนานขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ผู้ป่วยต้องสะดุ้งตื่นตอนกลางดึกหรือตอนเช้ามืด หรือมีอาการปวดศีรษะตลอดเวลา และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือกล้ามเนื้อชักกระตุก (มีลักษณะการชักทั้งตัว หรือเฉพาะที่แขนหรือขา หรือใบหน้ากระตุก) ร่วมด้วย 

ระยะต่อมา (เมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น) จะมีอาการอาเจียนร่วมกับอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจมีลักษณะอาเจียนพุ่งรุนแรง

นอกจากนี้ยังอาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากเนื้องอกไปกดเบียดถูกเนื้อเยื่อประสาทที่บริเวณใกล้เคียง ทำให้มีอาการต่าง ๆ ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งของเนื้องอก อาทิ มีอาการตามัวลงเรื่อย ๆ เห็นภาพซ้อน ลานสายตาแคบ (มองไม่เห็นด้านข้าง ทำให้เดินหรือขับรถชนถูกวัตถุที่อยู่ด้านข้าง) หรือตามืดบอดอย่างฉับพลัน ตาเหล่ ตากระตุก หูอื้อหรือมีเสียงในหู หูตึงหรือได้ยินไม่ชัด บ้านหมุน เดินเซ สูญเสียการทรงตัว มือเท้าทำงานไม่ถนัด แขนขาชาหรืออ่อนแรง พูดอ้อแอ้ มีความยากลำบากในการพูดและการอ่าน มีอาการอ่อนเพลียมาก น้ำหนักลดหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ความคิดสับสน ขาดสมาธิ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม มีภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า

ในรายที่เป็นเนื้องอกต่อมใต้สมอง (pituitary tumor) ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย นอกจากจะมีอาการดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีภาวะผิดปกติที่เกิดจากต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนมากเกิน เช่น โรคคุชชิง (cushing’s syndrome/hypercortisolism) เบาจืด (diabetes insipidus/DI) รูปร่างสูงใหญ่ผิดปกติ (giantism หรือ acromegaly) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) ถ้าพบในผู้หญิงอาจทำให้มีน้ำนมออกผิดธรรมชาติ (ไม่ได้เกิดในช่วงมีบุตร) ประจำเดือนไม่มา หรือมาไม่สม่ำเสมอ ในผู้ชายอาจมีอาการนมโต องคชาตไม่แข็งตัว หรือเป็นหมัน         

แต่ถ้าเนื้องอกต่อมใต้สมองมีขนาดใหญ่ ทำให้ต่อมนี้หลั่งฮอร์โมนน้อยเกิน อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกขี้หนาว อ่อนเพลีย ประจำเดือนมาห่างหรือไม่มา เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ


ภาวะแทรกซ้อน

หากปล่อยไว้นาน ๆ ได้รับการรักษาช้าไป อาจทำให้ตาบอด หูหนวกอย่างถาวร เด็กที่เป็นเนื้องอกสมองชนิด craniopharyngioma ก็อาจมีการเจริญเติบโตช้า ตัวเล็กกว่าปกติ

นอกจากนี้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อาทิ

    มีเลือดออกเฉียบพลันในก้อนเนื้องอกสมอง ทำให้เกิดอาการแบบเดียวกับหลอดเลือดสมองแตก (ดู "โรคหลอดเลือดสมอง")
    เนื้องอกที่อยู่ใกล้โพรงสมอง อาจโตจนอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน เดินเซ เป็นลม) และภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus)
    ถ้าหากความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน ก็จะทำให้เกิดการเลื่อนไหลของสมอง ทำให้เกิดอาการแขนขาเป็นอัมพาต หมดสติ และอาจเสียชีวิตแบบกะทันหันได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากการซักถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และทำการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางระบบประสาทและสมอง อาจตรวจพบอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง ความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น การได้ยิน การทรงตัว ความคิด อารมณ์ บุคลิกภาพ เป็นต้น

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์กะโหลกศีรษะ ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจเพตสแกน (PET scan) ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ตรวจเลือดและปัสสาวะ (ดูการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่าง ๆ) ตรวจชิ้นเนื้อสมองเพื่อพิสูจน์ชนิดของเซลล์เนื้องอก


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไป ยกเว้นเนื้องอกที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือเป็นมะเร็งที่ลุกลามมากแล้ว ก็อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การผ่าตัดด้วยรังสี (radiosurgery) หรือมีดแกมมา (gamma knife)

ในรายที่เป็นมะเร็ง (เช่น medulloblastoma, malignant gliomas) อาจต้องรักษาด้วยรังสีบำบัด (ฉายรังสี) ซึ่งอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือร่วมกับการผ่าตัด และบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drug)

ในรายที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง อาจต้องทำการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (shunt operation)

ผลการรักษา ขึ้นกับชนิด ตำแหน่ง และขนาดของเนื้องอก อายุ และสภาพของผู้ป่วย

ถ้าเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เนื้องอกประสาทหู เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (meningioma) เป็นต้น การรักษาก็มักจะได้ผลดีหรือหายขาด

แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามเร็ว (เช่น glioblastoma multiforme) หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่นก็มักจะให้การรักษาแบบประทัง เพื่อลดความทุกข์ทรมาน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ระยะหนึ่ง

หลังการรักษาด้วยการผ่าตัด ในบางรายอาจมีรอยแผลเป็นในสมอง ทำให้เกิดอาการชักแบบโรคลมชักได้ ซึ่งแพทย์จะให้ยากันชักกินควบคุมอาการ

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น ปวดศีรษะเวลาตื่นนอนตอนเช้าและตอนสายทุเลาเอง เป็นประจำทุกวันนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ (เช่น ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน ลานสายตาแคบ ตาเหล่ ตากระตุก หูอื้อ บ้านหมุน เดินเซ มือเท้าทำงานไม่ถนัด แขนขาชาหรืออ่อนแรง ชัก อ่อนเพลียมาก ประจำเดือนผิดปกติ) ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกสมอง ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย


ข้อแนะนำ

1. เนื้องอกสมองอาจพบในเด็กหรือคนอายุน้อยได้ ผู้ป่วยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ถ้ามีอาการสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีอาการปวดศีรษะรุนแรงและถี่ขึ้นทุกวัน หรือปวดตอนเช้ามืดทุกวันนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือปวดศีรษะเรื้อรังเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการของโรคลมชักที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในคนอายุมากกว่า 25 ปี หรือมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทและสมอง บุคลิกภาพ พฤติกรรม และอารมณ์ ควรรีบไปพบแพทย์

2. ในปัจจุบันเนื้องอกสมองส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง บางคนเชื่อว่ารังสีไมโครเวฟ หรือคลื่นโทรศัพท์ อาจทำให้เป็นเนื้องอกสมอง ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้แต่อย่างใด

3. โรคนี้บางครั้งมีอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้อาเจียนตอนเช้า ๆ หากผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีอาการดังกล่าวและมีอาการขาดประจำเดือนร่วมด้วย อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นอาการแพ้ท้อง ควรทำการตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ หากมีผลเป็นลบ และอาการดังกล่าวยังไม่ทุเลา ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดแต่เนิ่น ๆ

4. หากตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกสมองชนิดไม่ร้าย การได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ มักหายขาดได้เป็นปกติ แต่ถ้าหากตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกสมองชนิดร้าย (มะเร็ง) ก็ควรทำการรักษาและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และเรียนรู้วิธีดูแลตนเองให้ดี