ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง (Ankylosing spondylitis)  (อ่าน 72 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 438
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง (Ankylosing spondylitis)
« เมื่อ: วันที่ 9 ตุลาคม 2024, 18:46:46 น. »
Doctor At Home: ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง (Ankylosing spondylitis)

ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง (ข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดยึดติด ก็เรียก) คือโรคที่ภาวะการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังแบบเรื้อรัง และค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนมีการเชื่อมต่อ (ยึดติด) กันของข้อต่อกระดูก พบได้ประปราย ซึ่งพบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบในคนหนุ่มสาว และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองต่อเนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อกระดูกต่าง ๆ

สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม


อาการ

ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดข้อ โดยเฉพาะปวดหลังหรือบั้นเอว เมื่ออายุประมาณ 20 ปี (ระหว่าง 10-30 ปี) เริ่มปวดเมื่อมีอายุมากกว่า 30 ปีพบได้น้อย

บริเวณที่ปวด เรียงลำดับตามที่พบมาก ได้แก่ บั้นเอว แก้มก้น ทรวงอก หัวเข่า ส้นเท้า หัวไหล่ และข้อมือ ในระยะแรกมักมีอาการปวดเป็นครั้งคราว และดีขึ้นจากการกินยาแก้ปวด ที่เด่นชัดคือ จะปวดหลังมากเวลานอนโดยเฉพาะในช่วงเช้า

บางครั้งจะปวดมากจนต้องตื่นนอน อาจมีอาการหลังแข็ง และดีขึ้นหลังจากได้เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกาย

บางรายอาจรู้สึกปวดเมื่อยง่ายหลังทำงานหรือเล่นกีฬา

บางรายอาจมีอาการปวดร้าวลงขาแบบรากประสาทถูกกด

ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไปพบแพทย์หลังมีอาการ 6 เดือนถึง 3 ปี อาการจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นในระยะ 10-20 ปี แล้วอาจทุเลาหรือหายไปได้เอง หรืออาจปวดเฉพาะที่บั้นเอวหรือข้อสะโพก แต่บางรายอาการอักเสบอาจลุกลามไปตามข้ออื่น ๆ หรืออวัยวะอื่น ๆ เช่น ม่านตา (iris) หัวใจ ทางเดินอาหาร ปอด เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อน

ข้อต่อสันหลังเชื่อมติดกันจนมีความพิการ คือ หลังโก่ง

ข้อสะโพกติดแข็งจนยืนและเดินไม่ได้

ข้อต่อกระดูกซี่โครงติดแข็ง ทำให้สมรรถภาพปอดลดลง อาจเกิดการติดเชื้อในปอด ปอดอักเสบได้

ข้อขากรรไกรแข็ง ทำให้กลืนลำบาก

ประสาทสันหลังส่วนล่างผิดปกติ เกิดอาการปวดขา ขาอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ม่านตาอักเสบ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (aortic insufficiency)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ในระยะแรกเริ่ม อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

เมื่อเป็นมากขึ้น จะพบอาการกดหรือคลำถูกเจ็บตรงข้อที่ปวด หรือใช้กำปั้นทุบเบา ๆ ตรงกลางหลังจะเจ็บมากขึ้น

อาจตรวจพบว่า ผู้ป่วยก้มงอบั้นเอวลงด้านหน้าได้น้อยกว่าปกติ เรียกว่า การทดสอบแบบโชเบอร์ (Schober test)

การวัดรอบทรวงอกดูการขยายตัวเมื่อหายใจเข้าเต็มที่ จะพบว่าขยายขึ้นได้น้อยกว่าคนปกติ (ขยายได้ต่ำกว่า 5 ซม. ในชายหนุ่ม)

ในรายที่มีอาการรุนแรงและละเลยการรักษาที่ถูกต้องเป็นแรมปีจะมีลักษณะเฉพาะ คือ หลังแข็งทั้งท่อนและโก่ง (kyphosis) ตาไม่สามารถมองตรงไปข้างหน้า บางรายสะโพกแข็งแบบอยู่ในท่านั่ง ทำให้ยืนและเดินไม่ได้

บางรายอาจมีม่านตาอักเสบ คือ มีอาการปวดตาตาแดงร่วมด้วย เรียกว่า กลุ่มอาการไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) หรืออาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (aortic insufficiency) ซึ่งใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจได้ยินเสียงฟู่

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ซึ่งจะพบค่าอีเอสอาร์ (ESR) และ C-reactive protein สูงกว่าปกติ

การตรวจเอกซเรย์ และการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะพบความผิดปกติของข้อต่อสันหลังและข้อต่อสะโพก (sacroiliac joint) ในระยะที่โรคเป็นมากแล้ว


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การบรรเทาอาการปวด อักเสบ และป้องกันความพิการ โดย

1. ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน ถ้าไม่ได้ผลแพทย์จะให้ยากลุ่ม Disease-modifying antirheumatic drugs (DMARDs) เพิ่มเติม เช่น เมโทเทรกเซต (methotrexate), ซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine) เป็นต้น

2. กายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยคงรูปทรงในท่าตรงให้สามารถยืนและนั่งตรงได้ และรักษามุมการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง สะโพก คอ และทรวงอกไว้

3. การผ่าตัดสำหรับระยะท้ายของโรคที่มีการติดแข็งของข้อ เช่น การเปลี่ยนข้อสะโพก การดัดกระดูกเอวที่โก่งโค้งให้ตรง เป็นต้น

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถช่วยตัวเองได้ ยกเว้นผู้ที่ละเลยการรักษา อาจพบมีความพิการได้ประมาณร้อยละ 10 หากข้อสันหลังและข้อสะโพกยังมีความยืดหยุ่นหลังมีอาการเกิน 10 ปี ก็มักจะปลอดจากความเสี่ยงที่ข้อจะติดแข็ง

ผลการรักษา โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ระยะและความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามสภาพของแต่ละคน ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และรู้จักดูแลตนเองอย่างเหมาะสม ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยคงสภาพการทำงานของร่างกายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดหลังหรือบั้นเอวเรื้อรัง มีลักษณะปวดมากเวลานอนโดยเฉพาะในช่วงเช้า หรือบางครั้งปวดมากจนต้องตื่นนอน หรือมีอาการหลังแข็ง และดีขึ้นหลังจากได้เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หมั่นฝึกทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ การบริหารเน้นการเหยียดตรงของหลังและคอ
    รักษาอิริยาบถการยืน เดิน นั่ง นอน ให้หลังอยู่ในท่าตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้
    นอนบนที่นอนแข็ง (ไม่ควรใช้หมอนหนุนใต้เข่าเพื่อลดปวดเหมือนโรคปวดหลังทั่วไป) หลีกเลี่ยงการใช้หมอนสูงเพื่อป้องกันมิให้คอโก่งโค้ง
    เมื่อมีอาการปวด อาจใช้ความร้อนช่วย (เช่น อาบน้ำอุ่น ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ) และบีบนวด
    ผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการข้อติดแข็ง สามารถเล่นกีฬาได้ทุกประเภท ยกเว้นประเภทที่ต้องก้มหลัง เช่น ถีบจักรยาน โบว์ลิ่ง ตีกอล์ฟ เป็นต้น
    ฝึกการหายใจเข้าออกลึก ๆ วันละ 10-20 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า
    งดสูบบุหรี่ เพื่อป้องภาวะแทรกซ้อนของทางเดินหายใจ
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระดำ ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลามโดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย

ข้อแนะนำ

โรคนี้ในระยะแรกจะมีอาการปวดเหมือนโรคปวดกล้ามเนื้อหลัง หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือรากประสาทถูกกด ข้อเสื่อม แต่ถ้าพบเป็นเรื้อรังในชายหนุ่ม ซึ่งมีอาการปวดตอนเช้าก่อนตื่นนอน และอาการทุเลาหลังบริหารร่างกาย ก็ควรนึกถึงโรคนี้