ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: โรคลมร้อน (Heat stroke) โรคลมร้อน (โรคลมแดด ฮีตสโตรก ก็เรียก)  (อ่าน 176 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 472
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: โรคลมร้อน (Heat stroke) โรคลมร้อน (โรคลมแดด ฮีตสโตรก ก็เรียก)


เป็นภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉินร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายสูญเสียกลไกปรับอุณหภูมิ* ไม่สามารถกำจัดความร้อน เป็นเหตุให้มีการสะสมความร้อนภายในร่างกายสูงมากจนส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ทำหน้าที่ผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง หัวใจ ตับและไต ซึ่งอาจมีอันตรายถึงเสียชีวิต มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเผชิญกับคลื่นความร้อน (ซึ่งเกิดขึ้นในฤดูร้อน) หรือออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) ผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุมากกว่า 65 ปี) คนอ้วน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน เป็นต้น) ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือขาดการออกกำลังกาย

นอกจากนี้ ผู้ที่กินยาบางชนิดที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย (เช่น ยารักษาโรคจิตประสาท ยาแก้แพ้ ยาที่ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา เป็นต้น) ผู้ที่เสพยา (โคเคน แอมเฟตามีน) ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากขึ้น

*ร่างกายของคนเราจะปรับอุณหภูมิให้อยู่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส (98.6 องศาฟาเรนไฮต์) อยู่ตลอดเวลา ถ้าร่างกายมีการสะสมความร้อนมาก (เช่น การเผาผลาญอาหาร การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อร่างกาย) ก็จะกำจัดความร้อนออกจากร่างกายโดยการแผ่รังสี (ความร้อนจะกระจายออกจากร่างกายที่ร้อนกว่าไปยังอากาศภายนอกที่เย็นกว่า แต่ถ้าอากาศภายนอกร้อนเกิน 35 องศาเซลเซียส หรือร้อนกว่าร่างกาย ร่างกายก็ไม่สามารถแผ่รังสีความร้อนออกไปข้างนอก) และระบายออกทางเหงื่อ (จะเกิดขึ้นเมื่ออากาศภายนอกร้อนกว่าร่างกาย หรือขณะออกกำลังกาย แต่ถ้าอากาศภายนอกมีความชื้นสูง ก็จะทำให้การระบายความร้อนออกทางเหงื่อด้อยประสิทธิผลลงไป) ดังนั้นการกำจัดความร้อนของร่างกายจะเป็นไปได้ยากเมื่ออยู่ในอากาศที่ร้อนและชื้น

สาเหตุ

1. เกิดจากการเผชิญกับอากาศร้อน เช่น การเกิดคลื่นความร้อน (คือ อุณหภูมิสูงผิดปกติอยู่เป็นเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์*) อาจทำให้เกิดโรคลมร้อนหรือฮีตสโตรกในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอจากภาวะการเจ็บป่วยซึ่งอยู่ในห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือการถ่ายเทอากาศไม่ดี

2. เกิดจากการออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงกายอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อนและชื้น ในที่กลางแดด หรือในห้องที่ร้อนและปิดมิดชิด ร่างกายจะสร้างความร้อนมากเกินกว่าที่สามารถกำจัดออกไปได้ มักพบในนักกีฬา นักวิ่งมาราธอน นักปั่นจักรยานทางไกล นักขับรถแข่ง ทหาร (ที่ฝึกอยู่กลางแดด) คนงานก่อสร้าง เกษตรกร คนเร่ร่อน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอายุไม่มาก

3. ในเด็กเล็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ที่ปิดประตูหน้าต่างอยู่กลางแดดเปรี้ยง ก็อาจได้รับอันตรายจากความร้อนร่วมกับภาวะขาดอากาศหายใจ

สาเหตุเหล่านี้ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดความร้อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่หนา รัดรูป หรือไม่สามารถระบายความร้อนได้ ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลส่งเสริมให้ร่างกายสูญเสียกลไกปรับอุณหภูมิมากยิ่งขึ้น) ทำให้มีอุณหภูมิแกน (core temperature โดยการวัดทางทวารหนัก) ขึ้นสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ความร้อนจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนทำหน้าที่ผิดปกติไป และเกิดปฏิกิริยาการอักเสบของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง

*คลื่นความร้อน (heat waves) คือปรากฏการณ์ที่เกิดจากอากาศร้อนจัดสะสมอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในแผ่นดิน หรือพัดพามากับกระแสลมแรงจากทะเลทราย เกิดเป็นคลื่นความร้อน ทำให้เกิดความแปรปรวนของความร้อนในอากาศ อุณหภูมิสูงผิดปกติอยู่เป็นเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์

ดัชนีค่าความร้อนขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศและแต่ละภูมิภาค สำหรับประเทศไทยกำหนดเกณฑ์ว่า อากาศร้อนมีอุณหภูมิระหว่าง 35-39.9 องศาเซลเซียส และอากาศร้อนจัดมีอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป

องค์การอนามัยโลก รายงานว่า ระหว่างปี 2541-2560 ทั่วโลกมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคลมร้อนจากคลื่นความร้อนมากกว่า 166,000 ราย (ซึ่งพบในประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และอินเดียเป็นส่วนใหญ่) เฉพาะในปี 2546 คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศทางยุโรป ทำให้มีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 70,000 ราย

จากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2558-2562 พบผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนทุกปี (ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม) จำนวน 56, 60, 24 ,18 และ 57 รายตามลำดับ

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงจัด ร่วมกับอาการทางสมอง (เช่น เดินเซ สับสน พฤติกรรมแปลก ๆ ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง ชัก หมดสติ) และมีประวัติเผชิญคลื่นความร้อน ออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่ที่อากาศร้อน หรือติดอยู่ในรถยนต์ที่จอดอยู่กลางแดดร้อนนาน ๆ

ก่อนมีอาการทางสมองนับเป็นนาที ๆ ถึงชั่วโมง ๆ ผู้ป่วยมักมีอาการอื่น ๆ นำมาก่อน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ปวดศีรษะแบบตุบ ๆ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว กระสับกระส่าย ใจเต้นเร็ว หายใจตื้นและเร็ว เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน
มีผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกส่วน เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่

หัวใจ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ เลือดออกใต้เยื่อบุหัวใจ (subendocardial hemorrhage)
ปอด ปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ปอดอักเสบจากการสำลัก (aspiration pneumonia) ภาวะเลือดเป็นด่าง (respiration alkalosis) กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome/ARDS)
ไต ไตวายเฉียบพลัน
เลือด ภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด (ทำให้มีเลือดออกง่าย) ภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (DIC)
กล้ามเนื้อ เซลล์กล้ามเนื้อถูกทำลาย (rhabdomyolysis) มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปัสสาวะสีดำหรือสีโคล่า
สมอง อัมพาตครึ่งซีก หมดสติ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เดินเซ ชัก
ตับ ดีซ่าน เซลล์ตับตาย (hepatocellular necrosis) ตับวาย
อิเล็กโทรไลต์ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำหรือสูง ภาวะเเคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะโซเดียมในเลือดสูง ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแล็กติก (lactic acidosis) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะยูริกในเลือดสูง

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมีสิ่งตรวจพบดังนี้

ไข้ (วัดทางทวารหนัก) มากกว่า 40 องศาเซลเซียส (บางรายอาจสูงถึง 47 องศาเซลเซียส) แต่ถ้ามีการปฐมพยาบาลด้วยการลดอุณหภูมิร่างกายมาก่อนก็อาจตรวจไม่พบไข้หรือไข้ไม่สูงมาก

มีอาการหน้าแดง ผิวหนังออกร้อน ในกลุ่มที่เกิดจากคลื่นความร้อนอาจพบผิวหนังแห้ง ไม่มีเหงื่อ ส่วนในกลุ่มที่ออกกำลังกายมากอาจพบผิวหนังแห้งหรือมีเหงื่อออกเล็กน้อยก็ได้

ชีพจรเต้นเบาและเร็ว หายใจตื้นและเร็ว

ความดันโลหิตอาจสูงหรือต่ำ หรือแรงชีพจร (pulse pressure) กว้าง (ความดันช่วงล่างหรือไดแอสโตลีต่ำ)

อาจตรวจพบภาวะแทรกซ้อนของระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น ชัก หมดสติ เพ้อคลั่ง พฤติกรรมแปลก ๆ เดินเซ รูม่านตาโตทั้ง 2 ข้างและไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง จ้ำเขียวตามตัว ถ่ายเป็นเลือด ไอเป็นเลือด ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย

อาจพบกล้ามเนื้อเป็นตะคริว (เป็นก้อนเกร็งแข็ง) หรืออ่อนปวกเปียก

แพทย์จะทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เจาะหลังนำน้ำไขสันหลังมาตรวจ เป็นต้น เพื่อประเมินอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมทั้งตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกับโรคนี้

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษา ดังนี้

ทำการแก้ไขภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับการหายใจ (เช่น ให้ออกซิเจน ใช้เครื่องช่วยหายใจ) ให้สารน้ำ (normal saline หรือ lactate ringer’s solution) ทางหลอดเลือดดำ
รีบทำการลดอุณหภูมิร่างกายโดยเร็ว วิธีที่นิยมใช้กัน ได้แก่ การแช่ตัวผู้ป่วยในอ่างน้ำที่ผสมน้ำแข็ง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดอุณหภูมิร่างกายได้ดีกว่าวิธีอื่น และมักใช้เป็นวิธีแรกในการลดอุณหภูมิร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่เกิดจากการออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงกายอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อน*

ส่วนวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า ได้แก่ การพ่นฝอยละอองน้ำเย็น (ประมาณ 15 องศาเซลเซียส) ตามผิวกายของผู้ป่วยจนทั่วและใช้พัดลมขนาดใหญ่เป่า, การวางถุงน้ำแข็งตามศีรษะ คอ รักแร้ เเละขาหนีบ

บางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีให้สารน้ำที่เย็นทางหลอดเลือดดำ บางรายอาจใช้วิธีสวนล้างกระเพาะอาหารหรือทวารหนักด้วยน้ำเย็น และในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจใช้วิธีสวนล้างช่องท้องด้วยน้ำย็น

แพทย์จะทำการติดตามวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก พยายามทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงมาที่ประมาณ 39 องศาเซลเซียส และจะไม่ทำการลดให้ต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายลดลงต่ำเกินไป (over hypothermia)*

ทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อประเมินอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แล้วทำการแก้ไขภาวะผิดปกติตามที่ตรวจพบ
หลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้ (นอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น แอสไพรินส่งเสริมให้เลือดออก พาราเซตามอลอาจมีพิษต่อตับ) และยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น ยาที่ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก
ถ้ามีอาการหนาวสั่น ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้น แพทย์จะบรรเทาอาการหนาวสั่นโดยให้ยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง เช่น กลุ่มยาเบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepine เช่น ลอราซีแพม ไมดาโซแลม)

ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นก่อนมาถึงโรงพยาบาล ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องได้เร็ว ก็มีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 90

แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการนานเกิน 2 ชั่วโมงจึงได้รับการรักษา มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 70

บางรายเมื่อรักษาจนฟื้นตัวดีแล้ว อาจมีอุณหภูมิแกว่งขึ้นลงอยู่นานนับสัปดาห์

บางรายอาการทางสมองอาจหายไม่สนิท มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ท่าทางงุ่มง่าม หรือกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี

การดูแลตนเอง

หากเผชิญคลื่นความร้อน หรือออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่กลางแดดหรือที่อากาศร้อน หรือติดอยู่ในรถที่จอดอยู่กลางแดดร้อนนาน ๆ แล้วมีอาการตัวร้อน ปวดศีรษะแบบตุบๆ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการทางสมอง (เช่น เดินเซ สับสน พฤติกรรมแปลก ๆ ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง ชัก หรือหมดสติ) ควรทำการปฐมพยาบาลและนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

การปฐมพยาบาล

เมื่อพบผู้ป่วยมีไข้สูง ร่วมกับอาการทางสมอง และมีประวัติถูกคลื่นความร้อน ออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่ร้อน ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน

ก่อนนำส่งโรงพยาบาล ควรให้การปฐมพยาบาล ดังนี้

พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม ในรถปรับอากาศ ห้องที่มีความเย็นหรือห้องแอร์
ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น
ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ
ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดีให้ดื่มน้ำเย็น เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย
ถ้าผู้ป่วยหมดสติ จับศีรษะหันให้หน้าเอียงไปทางข้างใดข้างหนึ่ง (เพื่อป้องกันการสำลัก) และให้การปฐมพยาบาลอาการหมดสติเพิ่มเติม ดังนี้

– ใช้นิ้วล้วงเอาอาเจียน เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย

– ห้ามให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มอะไรทางปาก

– ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น

– ให้ทำการกู้ชีวิต (ดูหัวข้อ “CPR”)

ถ้ามีอาการชักร่วมด้วย ให้การปฐมพยาบาลอาการชักเพิ่มเติม ดังนี้

– ป้องกันอันตรายหรือการบาดเจ็บ โดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในพื้นที่โล่งและปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือระเกะระกะอยู่ข้างกาย

– ถ้ามีเศษอาหาร เสมหะ หรือฟันปลอม ให้นำออกจากปาก ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดออก

– อย่าใช้วัตถุ (เช่น ไม้ ด้ามช้อน ปากกา ดินสอ) สอดใส่ปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้น เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันได้รับบาดเจ็บได้

– อย่าผูกหรือมัดตัวผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้

– อย่าให้ผู้ป่วยกินอะไรระหว่างชักหรือหลังชักใหม่ ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้

นำส่งโรงพยาบาลโดยรถปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท

การป้องกัน

ในการป้องกันอันตรายจากความร้อน (อากาศร้อน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดหรือเป็นโรคประจำตัว ควรปฏิบัติดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่ที่อากาศร้อนและชื้น

2. ถ้าจำเป็นต้องออกกำลังกายหรือใช้แรงกายในที่กลางแดดหรืออากาศร้อน ควรปฏิบัติดังนี้

ก่อนออกกำลังควรดื่มน้ำ 400-500 มล. (ประมาณ 2 แก้ว) และระหว่างออกกำลังควรดื่มน้ำ 200-300 มล. (ประมาณ 1 แก้ว) เป็นระยะ ๆ (ประมาณทุก 20 นาที) เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
ควรสวมเสื้อผ้าบาง ๆ หลวม ๆ มีลักษณะสีอ่อน และระบายความร้อนได้ดี
เมื่อออกกลางแดด ควรสวมหมวกปีกกว้าง ใส่แว่นกันแดด และทายากันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 15 ขึ้นไป
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หลีกเลี่ยงการกินยาที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย
ไม่ควรอยู่ในที่กลางแดดหรืออากาศร้อนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรกางร่มหรือหลบเข้าที่ร่มเป็นพัก ๆ

3. ในช่วงที่มีคลื่นความร้อน (อากาศร้อน) ควรอยู่ในห้องปรับอากาศ หรือในบ้านที่เปิดประตูหน้าต่าง มีพัดลมเป่าให้อากาศถ่ายเทสะดวก (อย่าอยู่ในห้องปิด หรือที่อับไม่มีอากาศถ่ายเท) ควรอาบน้ำบ่อย ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ สวมเสื้อผ้าบาง ๆ หลวม ๆ สีอ่อนและเท่าที่จำเป็น

4. สำหรับเด็กเล็ก ไม่ควรปล่อยเด็กไว้ในรถยนต์ตามลำพังแม้เพียงเดี๋ยวเดียว เมื่อไม่ใช้รถควรปิดประตูรถทุกครั้ง และเก็บกุญแจรถไว้ในที่มิดชิดหรือที่เด็กเอื้อมไม่ถึง

ข้อแนะนำ

1. โรคลมร้อน (heat stroke) เป็นโรคที่เกิดจากความร้อน (heat-related illness) ชนิดที่ร้ายแรงที่สุด ความร้อน (อากาศร้อน) อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้อีกหลายลักษณะ* ดังนั้นเมื่อเผชิญกับความร้อนแล้วมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ควรสังเกตตัวเองว่าเป็นภาวะที่มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด และให้การดูแลรักษาที่เหมาะสม

2. กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากความร้อน ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ผู้ที่กินยาบางชนิดที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย ดังนั้นเมื่อเผชิญกับอากาศร้อน ควรระมัดระวังตัว และรู้จักหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเพลียแดด และโรคลมร้อน

*อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อน ที่สำคัญ ได้แก่
1. ภาวะเป็นลมจากความร้อน (heat syncope) เกิดจากร่างกายขาดน้ำ ทำให้ความดันโลหิตลดลง เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง ขณะลุกขึ้นยืนเร็ว ๆ หรือยืนนาน ๆ ก็จะเกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติชั่วขณะ แล้วฟื้นคืนเป็นปกติได้เอง นับว่าเป็นภาวะที่มีความรุนแรงน้อย

การรักษา ควรรีบพาเข้าในที่ร่ม ให้ผู้ป่วยนอนราบหรือนั่ง ปลดเสื้อผ้าให้หลวมสบาย และให้ดื่มน้ำ (น้ำเย็น น้ำผลไม้ สารละลายน้ำตาลเกลือแร่) หากพบในผู้สูงอายุหรือมีอาการกำเริบบ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะผิดปกติอื่น ๆ

2. ตะคริวจากความร้อนหรือตะคริวแดด (heat cramps) เกิดจากความร้อนทำให้เหงื่อออกมาก ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เกิดอาการกล้ามเนื้อเป็นตะคริว ซึ่งมักเป็นที่น่อง ต้นขา และไหล่

การรักษา ควรรีบพาเข้าที่ร่ม ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำกับเกลือแร่ (สารละลายน้ำตาลเกลือแร่) ถ้าอาการไม่ทุเลาใน 1 ชั่วโมง หรือสงสัยเป็นภาวะหมดแรงจากความร้อนหรือโรคเพลียแดด (ซึ่งมักมีอาการเป็นตะคริวร่วมกับไข้และอาการอื่น ๆ) ควรรีบไปพบแพทย์

3. ภาวะหมดแรงจากความร้อนหรือโรคเพลียแดด (heat exhaustion) มีสาเหตุจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างมาก จากการมีเหงื่อออกมากหรือมีภาวะขาดน้ำที่รุนแรง มักเกิดอาการขณะออกกำลังหรือทำงานใช้แรงกายอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อน ผู้ป่วยจะมีอาการเหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า กระหายน้ำมาก คลื่นไส้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นลม กล้ามเนื้อเป็นตะคริวหรือปวดเมื่อย กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อย โดยไม่มีอาการผิดปกติของสมองหรือภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกับโรคลมร้อน การตรวจวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก มีค่าระหว่าง 37-40 องศาเซลเซียส (ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส) อาจพบผิวหนังซีด เย็น มีเหงื่อชุ่ม ชีพจรเต้นเบาและเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำลงในท่ายืน (ภาวะความดันเลือดตกในท่ายืน มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน และทุเลาเมื่อนอนราบ) ภาวะนี้ถ้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นโรคลมร้อน เป็นอันตรายได้

การรักษา รีบพาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม ในรถปรับอากาศ ห้องที่มีความเย็นหรือห้องแอร์, ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงเล็กน้อย ปลดเสื้อผ้าให้หลวมสบาย, ให้ดื่มน้ำ (น้ำเย็น น้ำผลไม้ สารละลายน้ำตาลเกลือแร่), ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ ถ้าอาการไม่ทุเลาใน 15 นาที หรือสงสัยเป็นโรคลมร้อน ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด่วน

4. โรคลมร้อน (ฮีตสโตรก) มีไข้ (วัดทางทวารหนัก) มากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางสมอง ผิวหนังออกแดง ร้อน และแห้ง ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นภาวะหมดแรงจากความร้อนหรือโรคเพลียแดดนำมาก่อน หรือบางรายไม่มีก็ได้ หากพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคลมร้อน ควรรีบให้การปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาลทันที การรักษาได้ทันท่วงทีจะช่วยให้ชีวิตรอดปลอดภัยได้