ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการ: ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (Contact dermatitis)  (อ่าน 43 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 436
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการ: ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (Contact dermatitis)
« เมื่อ: วันที่ 27 พฤศจิกายน 2024, 21:10:57 น. »
ตรวจอาการ: ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (Contact dermatitis)

ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (ผื่นคันจากการสัมผัส ผื่นแพ้จากการสัมผัส ก็เรียก) หมายถึง อาการผื่นคันที่เกิดจากการสัมผัสถูกสิ่งกระตุ้นจากภายนอกร่างกาย ซึ่งเป็นสารระคายเคืองหรือสารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ง่าย โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้

สาเหตุ

การเกิดผื่นอาจเป็นผลมาจากข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

1. การระคายเคืองต่อผิวหนัง เนื่องจากการถูกสารระคายเคือง ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ เช่น กรดด่าง สบู่ ผงซักฟอก ยางไม้ (ยางมะม่วง ต้นรัก) เป็นต้น เรียกว่า ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสเนื่องจากการระคายเคือง (irritant contact dermatitis)

2. การแพ้ โดยที่ผู้ป่วยจะต้องเคยสัมผัสถูกสารแพ้มาอย่างน้อยครั้งหนึ่งก่อน แล้วร่างกายถูกกระตุ้นให้สร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ขึ้นมา เมื่อสัมผัสซ้ำอีกครั้งหนึ่งก็ทำให้เกิดอาการแพ้ การสัมผัสครั้งแรกกับครั้งหลัง อาจห่างกันเป็นวัน ๆ เป็นเดือน หรือเป็นปีก็ได้

สารที่ก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่าย เช่น โลหะ (นิกเกิล โครเมียม โคบอลต์ เงิน ปรอท) ยาทาเฉพาะที่ (เช่น เพนิซิลลิน ซัลฟา นีโอไมซิน แอนติฮิสตามีน ยาชา) ปลาสเตอร์ เครื่องสำอาง (เช่น ยาย้อมผม น้ำหอม ยาทาเล็บ ลิปสติก) เครื่องแต่งกาย (รองเท้า ถุงเท้า เสื้อผ้า) ปูนซีเมนต์ สี สารเคมีต่าง ๆ เป็นต้น เรียกว่า ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสเนื่องจากการแพ้ (allergic contact dermatitis)

โรคนี้จะพบบ่อยในผู้ที่ทำงานบ้าน โรงงานอุตสาหกรรมหรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสถูกสารดังกล่าวเป็นประจำ


อาการ

มีลักษณะเป็นผื่นแดงหรือขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ มีอาการคันมาก ซึ่งจะขึ้นเฉพาะบริเวณที่สัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ อาจทำให้เห็นเป็นรอยตามลักษณะของสิ่งที่แพ้ เช่น รอยสายนาฬิกา สร้อยคอ ขอบกางเกง สายเสื้อชั้นใน สายรองเท้า เป็นต้น

บางรายอาจเป็นตุ่มน้ำใส ซึ่งอาจต่อกันจนเป็นตุ่มพองใหญ่ เมื่อแตกออก จะมีน้ำเหลืองไหล และมีสะเก็ดเกรอะกรัง

เมื่ออาการทุเลา ผิวหนังอาจแห้งเป็นขุย หรือหนาตัวขึ้นชั่วคราว

บางรายผิวหนังอาจคล้ำลงหรือเป็นรอยด่างขาวชั่วคราว


ภาวะแทรกซ้อน

หากมีอาการคันมากอาจเกาจนมีน้ำเหลืองเยิ้มทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย (กลายเป็นตุ่มหนอง หรือแผลพุพอง) หรือเชื้อรา (กลายเป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น โรคเชื้อราแคนดิดา)

  หากเป็นเรื้อรังอาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสมาธิในการทำงาน

ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจเกาเป็นนิสัย ทำให้ผิวหนังหนาตัว มีสีคล้ำ เรียกว่า “Neurodermatitis” หรือ “Lichen simplex chronicus” ซึ่งบางคนเรียกว่า “โรคเรื้อนกวาง” โดยไม่เกี่ยวกับโรคเรื้อน และไม่เป็นโรคติดต่อแบบโรคเรื้อนแต่อย่างใด


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ

ในรายที่มีอาการไม่ชัดเจน หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย แพทย์จะทำการทดสอบทางผิวหนัง โดยวิธี patch test (ใช้น้ำยาที่มีสารต่าง ๆ ปิดที่หลังแล้วดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น) เพื่อหาสาเหตุซึ่งจะได้หาทางหลีกเลี่ยง

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. หาสาเหตุที่ระคายเคืองหรือแพ้ (เหตุกำเริบ) แล้วหลีกเลี่ยงเสีย โดยสังเกตจาก

    ตำแหน่งที่เป็น เช่น ที่ศีรษะอาจแพ้ยาย้อมผม แชมพูสระผม น้ำมันใส่ผม ที่ใบหูอาจแพ้ตุ้มหู ที่ใบหน้าอาจแพ้เครื่องสำอาง ที่คออาจแพ้น้ำหอม สร้อยคอ ที่ลำตัวอาจแพ้เสื้อผ้า สบู่ ที่ขาและเท้า อาจแพ้ถุงเท้า รองเท้า (หนังหรือยาง) ที่ข้อมืออาจแพ้สายนาฬิกา ที่มือและเท้าอาจแพ้ผงซักฟอก ปูนซีเมนต์ ที่แขนหรือขาอาจแพ้ยุง แมลง เป็นต้น
    อาชีพและงานอดิเรก เช่น คนขับรถอาจแพ้เบนซิน น้ำมันเครื่อง แม่บ้านหรือคนซักผ้าอาจแพ้ผงซักฟอก ช่างปูนอาจแพ้ปูนซีเมนต์ เป็นต้น

2. รักษาผื่นคันโดย

    ชะแผลด้วยน้ำเกลือ แล้วเช็ดให้แห้ง
    ทาด้วยครีมสเตียรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ ถ้าเป็นบริเวณกว้าง ควรให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ไดเฟนไฮดรามีน หรือไฮดรอกไซซีน
    ถ้ามีหนองหรือน้ำเหลืองไหล ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน, อีริโทรไมซิน)

3.    ในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องให้เพร็ดนิโซโลน กินนาน 10 วัน

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการผื่นแดงหรือตุ่มคันตามผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการกำเริบใหม่
    ผื่นกลายเป็นตุ่มหนอง แผลพุพอง หรือมีน้ำเหลืองไหล
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกสิ่งระคายเคืองหรือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
    เมื่อสัมผัสสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำอุ่นกับสบู่เหลว
    รีบทำความสะอาดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการทันที
    ทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวบ่อย ๆ

ข้อแนะนำ

การรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับการค้นหาเหตุกำเริบ ซึ่งส่วนมากจะวินิจฉัยได้จากการซักถามประวัติ และตำแหน่งที่เป็น หรือไม่ก็สามารถบอกจากการทดสอบทางผิวหนัง ถ้าหลีกเลี่ยงเหตุกำเริบได้มักจะหายใน 2-3 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน