โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ฟังดูเหมือนจะไม่น่ากลัว แต่คุณรู้หรือไม่? ว่าโรคความดันโลหิตสูงนี้ถือว่าเป็นโรคอันตรายที่เปรียบเสมือนประตูสู่โรคร้ายอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกมากมายเลยทีเดียว สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าอาการมึนหัว ปวดหัวคล้ายไมเกรนบ่อยๆ ใจสั่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย วัดความดันเมื่อไหร่ก็ดูเหมือนค่าความดันจะสูงปรี๊ด อาการแบบนี้จะเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงไหม เรามาดูรายละเอียดกัน
ค่าความดันเท่าไหร่ ถึงจะเรียกว่ามีความดันโลหิตสูง ?
สำหรับคนที่สงสัยว่าความดันโลหิตที่วัดออกมานั้น ต้องมีค่าเท่าไหร่กันถึงจะหมายความว่ามีความดันสูง ซึ่งโดยปกติแล้วความดันที่ปกติหรือเหมาะสมนั้นจะต้องไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งหากมีค่าตัวบนและตัวล่างที่มากกว่านี้ ถือว่าเริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูงแล้ว
ค่าตัวบน ค่าตัวล่าง ระดับความดันโลหิตและคำแนะนำ
น้อยกว่าหรือเท่ากับ 120 และ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 80 ความดันปกติ แนะนำตรวจเช็กสม่ำเสมอ
120 - 139 และ/หรือ 80-89 เริ่มมีความเสี่ยงความดันสูง แนะนำตรวจเช็กสม่ำเสมอ
140-159 และ/หรือ 90-99 มีภาวะความดันสูงระดับ 1 แนะนำให้พบแพทย์
160-179 และ/หรือ 100-109 มีภาวะความดันสูงระดับ 2 แนะนำให้พบแพทย์
มากกว่า 180 และ/หรือ มากกว่า 110 มีภาวะความดันสูงระดับ 3 อันตรายมาก แนะนำให้พบแพทย์โดยด่วน
โรคความดันโลหิตสูง มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง
ความดันโลหิตสูงนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ซึ่งมีสาเหตุต่างกัน ดังนี้
1. ความดันโลหิตแบบปฐมภูมิ คือภาวะความดันโลหิตสูงซึ่งไม่มีสาเหตุชัดเจน ไม่พบโรคหรือภาวะผิดปกติหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งสามารถพบได้มากกว่า 90% โดยเฉพาะในช่วงอายุ 35-40 ปีขึ้นไป ที่ภาวะหลอดเลือดแดงในร่างกายเริ่มแข็งตัวมากขึ้น ในผู้ป่วยบางราย อาจมีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ของโรคความดันโลหิตสูง ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคมากขึ้น
2. ความดันโลหิตแบบทุติยภูมิ เป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งเกิดจากโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น
ภาวะอ้วนลงพุง หรือน้ำหนักเกิน
ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ
กลุ่มโรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น โรคไทรอยด์บางชนิด, ความผิดปกติของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต
โรคไตวายเรื้อรังหรือกรวยไตอักเสบเรื้อรัง หรือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไต ตีบตัน
โรคของหลอดเลือดส่วนปลายตีบ บางชนิด
รับประทานยาบางชนิดเพื่อรักษาโรคประจำตัว ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้
ทั้งนี้แล้วภาวะเครียด นอนไม่หลับหรือพักผ่อนน้อย การรับประทานที่รสเค็มจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเอง หรือทำให้ผู้ที่เป็นโรคอยู่แล้ว ควบคุมความดันโลหิตได้ยากมากขึ้นด้วย
อาการของโรคความดันโลหิตสูงเป็นอย่างไร
ในคนที่มีความดันโลหิตสูง โดยปกติร่างกายแทบจะไม่แสดงอาการอะไร แต่ในบางรายที่เมื่อมีความดันสูงอาจมีอาการปวดศีรษะได้ โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย ในลักษณะตื้อๆ มึนๆ ซึ่งถ้ามีความดันโลหิตสูงมากแบบเฉียบพลัน อาจมีเลือดกำเดาไหลและปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นได้
แต่หากมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง เหนื่อยง่ายผิดปกติ ปวดศีรษะรุนแรงร่วมกับอาเจียน มีอาการชาตามมือ เท้า หรือแขนขาซีกหนึ่งซีกใดอ่อนแรง แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ และหายสนิทได้เอง หรือตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็นและอาจกลับเป็นปกติ ควรเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยอาการโดยละเอียด
โรคความดันโลหิตสูง เป็นแล้วเสี่ยงโรคอะไรบ้าง
โรคความดันโลหิตสูงฟังดูเหมือนจะไม่อันตราย แต่การปล่อยให้โรคดำเนินต่อไปโดยไม่ดูแลตัวเองให้ดี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอันตรายได้ เช่น หัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องอกหรือท้อง ไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรัง ที่สุดท้ายอาจต้องลงเอยด้วยการฟอกไตไปตลอดชีวิต เป็นต้น
วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง นอกจากการตรวจเช็กความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เข้าพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและผลการรักษาเป็นประจำแล้ว การดูแลสุขภาพและปรับไลฟ์สไตล์ให้มีคุณภาพ ก็จะช่วยให้คุณอยู่ร่วมกับโรคได้อย่างไม่มีปัญหา โดยทุกคนสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ ดังนี้
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ลดการบริโภคเกลือ หรืออาหารรสเค็ม รสจัด
รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
ลดและจัดการความเครียด
พักผ่อนให้เพียงพอ
สุดท้ายนี้แม้ว่าโรคความดันโลหิตสูงจะดูเหมือนไม่ใช่โรคอันตรายที่น่ากลัว แต่การปล่อยปละละเลยสุขภาพและปล่อยให้ร่างกายมีความดันโลหิตสูง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่อชีวิตตามมาได้ ดังนั้นหากคุณมีอาการ หรือวัดความดันโลหิตแล้วเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรหมั่นดูแลสุขภาพตามคำแนะนำที่ได้กล่าวไป และเข้ารับการตรวจโดยแพทย์โรคหัวใจ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย เช็กความดันด้วยตัวเองที่บ้านเป็นประจำ และควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ เพื่อเช็กภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณรู้เท่าทันโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถรักษาให้หายขาดได้
โรคความดันโลหิตสูง ประตูสู่ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/