ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้น: มะเร็งไต (Kidney cancer)  (อ่าน 375 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 438
  • เวบบอร์ดโพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้น: มะเร็งไต (Kidney cancer)
« เมื่อ: วันที่ 25 สิงหาคม 2023, 00:05:11 น. »
มะเร็งไต พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด ส่วนใหญ่ (ราวร้อยละ 90 ของมะเร็งไตทั้งหมด) เป็นมะเร็งไตชนิดเซลล์เนื้อเยื่อไต (renal cell carcinoma/RCC) ซึ่งพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า พบมากในช่วงอายุ 50-70 ปี พบได้น้อยในคนอายุต่ำกว่า 45 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้างเดียว พบเป็นทั้ง 2 ข้างประมาณร้อยละ 2-5

ในเด็กเล็กก็อาจเป็นมะเร็งไตที่มีชื่อว่า เนื้องอกวิล์มส์ (Wilms’ tumor) มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามะเร็งไตชนิด renal cell carcinoma มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่

    การสูบบุหรี่
    ภาวะอ้วน
    ความดันโลหิตสูง
    การล้างไตโดยการฟอกเลือด (hemodialysis) ในผู้ป่วยไตวายเป็นระยะยาวนาน
    การสัมผัสสารเคมี (เช่น แคดเมียม ใยหิน ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปิโตรเลียม สารเคมีกำจัดวัชพืช ไตรคลอโรเอทิลีน เป็นต้น)
    การมีประวัติมะเร็งไตในครอบครัว
    การมีประวัติเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น Birt-Hogg-Dube syndrome, von Hippel-Lindau disease, tuberous sclerosis complex, familial renal cancer หรือ hereditary papillary renal cell carcinoma


ส่วนมะเร็งไตเด็ก (เนื้องอกวิล์มส์) เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกรรมพันธุ์


อาการ

ในผู้ใหญ่ ระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ พบมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก

ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะเป็นเลือด ปวดเอวหรือสีข้างข้างหนึ่งอย่างเรื้อรัง คลำได้ก้อนในบริเวณสีข้าง อาจมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ซีด มีไข้เป็นพัก ๆ ร่วมด้วย มะเร็งอาจแพร่กระจายไปที่ตับ ปอด สมอง กระดูก

ส่วนมะเร็งไตเด็ก เด็กจะมีอาการท้องโต และคลำได้ก้อนในท้อง


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้มีภาวะซีด (โลหิตจาง) จากการปัสสาวะเป็นเลือดรุนแรงหรือเรื้อรัง ความดันโลหิตสูงที่อาจควบคุมได้ยาก

เกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ ที่มะเร็งแพร่กระจายไป เช่น ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ), สมอง (ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชา และเป็นอัมพาต ชัก)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพรังสีกรวยไตโดยการฉีดสารทึบรังสี (intravenous pyelogram/IVP) และทำการตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ

หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน-PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับรังสีบำบัด เคมีบำบัด และ/หรืออิมมูนบำบัด

ผลการรักษาขึ้นกับชนิดและระยะของโรค

สำหรับมะเร็งไตที่พบในผู้ใหญ่ มักจะตรวจพบในระยะลุกลามหรือแพร่กระจายแล้ว การรักษาจึงไม่สู้จะได้ผลดี

ถ้าเป็นระยะที่ลุกลามไปบริเวณข้างเคียง มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 50-75

ถ้าเป็นระยะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีต่ำกว่าร้อยละ 10

แต่ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 80

สำหรับเนื้องอกวิล์มส์ (Wilms’ tumor) ที่พบในเด็ก หากเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง (ลุกลามช้า) มักจะรักษาให้หายได้ถึงร้อยละ 85-90 แต่ถ้าเป็นชนิดที่รุนแรง (ลุกลามเร็ว) ก็จะได้ผลต่ำกว่าชนิดที่ไม่รุนแรง


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด, ปวดเอวหรือสีข้างข้างหนึ่งอย่างเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ, น้ำหนักลด, คลำได้ก้อนในบริเวณสีข้าง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งไต ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเซลล์เนื้อเยื่อไตด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
    ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการออกกำลังกาย ลดอาหารที่มีแคลอรี่สูง และกินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
    ควบคุมโรคความดันโลหิตสูงให้ได้ผล
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี (เช่น แคดเมียม สารเคมีกำจัดวัชพืช ไตรคลอโรเอทิลีน เป็นต้น)

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด หรือปวดเอว (สีข้าง) ข้างหนึ่งเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี



ตรวจอาการเบื้องต้น: มะเร็งไต (Kidney cancer) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker